วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ลดความอ้วนอย่างไรไม่เกิดอันตราย

On August 16, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ.พญ.นันทกร ทองแตง-ผศ.นพ.พรพจน์ เปรมโยธิน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 16-23 สิงหาคม 2562)

โรคอ้วนเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และอาหารในปัจจุบัน เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว

จากการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารจุกจิก หลายมื้อ หรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ (ให้พลังงาน) สูง ร่วมกับมีกิจกรรมทางกายลดลง หันไปใช้เครื่องผ่อนแรง เช่น บันไดเลื่อน ลิฟต์ หรือยานพาหนะแทน รวมถึงขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบันโรคอ้วนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กก็พบปัญหาเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง นิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจและหลอดเลือด

การวินิจฉัยโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง

โรคอ้วนสามารถวินิจฉัยได้จากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) โดยใช้น้ำหนักหารด้วยส่วนสูง หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง [BMI = น้ำหนัก (กก.)/ส่วนสูง (ม.)2] หากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 23 กก./ม.2 จัดว่ามีน้ำหนักตัวเกิน (overweight) และหากมีค่าดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ม.2 จัดว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง

สำหรับคนไทย เพศชายไม่ควรมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และเพศหญิงไม่ควรมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)

วิธีลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย ได้ผล

การลดน้ำหนักประกอบด้วย การคุมอาหารและออกกำลังกาย หรืออาจพิจารณาใช้ยาลดน้ำหนักร่วมด้วย สําหรับการผ่าตัดลดน้ำหนักแพทย์จะใช้เฉพาะผู้มีดัชนีมวลกาย ≥ 40 กก./ม.2 หรือเกิน 35 กก./ม.2 ที่มีภาวะโรคเรื้อรังจากความอ้วน (obesity related comorbidities) ร่วมด้วย

ว่าไปแล้วหากลดแคลอรี่จากอาหารที่รับประทานลงวันละประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ จะสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ยสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หรือ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน

สูตรอาหารลดน้ำหนักมีหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพลดน้ำหนักในระยะสั้นแตกต่างกัน แต่ในระยะยาวประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักคล้ายคลึงกันหากสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์หากจะลดน้ำหนักโดยใช้สูตรลดแป้งหรือโลว์คาร์บ (low carbohydrate) และสูตรอาหารคีโตเจนิค (ketogenic diet) เนื่องจากอาจมีความจําเป็นต้องปรับยาเบาหวานเพื่อลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ และเฝ้าระวังการเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (DKA) โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1

ให้เราสังเกตดู เมื่อลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหารไปสักระยะหนึ่ง น้ำหนักจะลดช้าลง เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อลดลง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและไม่ให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่าภาวะ “โยโย่”

การออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นทำได้ง่ายๆ โดยเดินเพิ่มขึ้น อาจเดินพื้นราบ เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน ถีบจักรยานระยะทางสั้นๆ นอกจากออกกำลังกายแล้ว ยังลดมลภาวะจากน้ำมันรถได้อีกด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาในสื่อต่างๆ และอ้างถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนักนั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่ยา แต่เป็น “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ซึ่งจัดเป็นอาหารประเภทหนึ่งตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กล่าวคือ องค์ประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้น ร่างกายสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารโดยทั่วไป แม้ว่ารูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะใกล้เคียงกับยา แต่ไม่ใช่ยา ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกายได้ และไม่สามารถรักษาหรือบรรเทาความเจ็บป่วยหรือโรคใดๆได้

ดังนั้น การใช้ยาลดน้ำหนักควรใช้ภายใต้คําแนะนําของแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยติดตามผลการรักษาและภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากยาลดน้ำหนักบางชนิดมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบประสาทและอารมณ์ เช่น

ยาเฟนเทอร์มีน (phentermine) เป็นอนุพันธ์ของสารแอมเฟตามีน ออกฤทธิ์ต่อสมองทําให้ลดความอยากอาหาร เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีผลข้างเคียงทําให้ปากคอแห้ง ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และได้รับการรับรองให้ใช้ในระยะสั้น คือไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น

ส่วนยาลดน้ำหนักชนิดฉีด เช่น ยาลิรากลูไทด์ (liraglutide) อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น

ยาไซบูทรามีน (sibutramine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททําให้เบื่ออาหาร ปัจจุบันถูกถอนทะเบียนยาและไม่อนุญาตให้ใช้แล้วในประเทศไทย เนื่องจากอาจทําให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อผู้เป็นโรคหัวใจ ปัจจุบันสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังคงตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนัก ซึ่งมีรายงานการเกิดอันตรายรุนแรงต่อผู้บริโภคถึงขั้นเสียชีวิต

โดยสรุปหลักสำคัญของการลดน้ำหนักประกอบด้วยการควบคุมอาหาร ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการอดอาหาร แต่เป็นการควบคุมให้ปริมาณแคลอรี่ที่รับเข้าไปสมดุลกับที่พลังงานถูกนำไปใช้ ฝึกการรับประทานให้เป็นเวลา วันละ 3 มื้อ และไม่กินพร่ำเพรื่อระหว่างมื้อ ลดของหวาน ขนมหวาน และน้ำหวานต่างๆ การใช้ยาลดน้ำหนักต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากหากใช้ผิดวิธีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการออกกำลังกายและเพิ่มกิจกรรมทางกาย โดยพยายามลุกขึ้นเดินแทนที่จะนั่งตลอด

เราเชื่อว่าคุณทำได้ ลงมือเสียแต่วันนี้เถอะค่ะ


You must be logged in to post a comment Login