วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สมาคมฯ หารือเตรียมความพร้อมก่อนใช้กฎและกติกาฟุตบอลแบบใหม่สากล 20 ส.ค.นี้

On August 16, 2019

วันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. ณ ที่ทำการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนใช้กฎและกติกาฟุตบอลแบบใหม่สากล ตามสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า กำหนด ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และฝ่ายจัดการแข่งขัน จะใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

การประชุมประกอบด้วย พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะทำงานแก้ไขระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, ผศ. ดร. ภิรมย์ อั๋นประเสริฐ รองประธานฯ พร้อมคณะทำงาน นายโสภณ มหาบุญ,พันจ่าเอก ปรีชา กางรัมย์, นายประเสริฐ ครุธศรี, ดร.นิคม มากรุ่งแจ้ง, นายยงยศ พึ่งธรรม, นายกฤตเมต เอ่งฉ้วนธาดา, นายดนัย มงคลศิริ,นาวาเอก (พิเศษ) บุญธรรม พันธุ์นุช, นายสัมพันธ์ คำคม และนายไพฤทธิ์ ด้านไพรี ร่วมหารือ

สำหรับกฎและกติกาฟุตบอลที่เปลี่ยนไป มีดังต่อไปนี้

กติกาข้อที่ 3 : ผู้เล่น

– การเปลี่ยนตัวออกจากสนาม ผู้เล่นต้องออกจากสนาม ด้วยการออกจากสนาม ตรงเส้นข้างที่ใกล้ที่สุด ไม่จำเป็นต้องเดินมาเปลี่ยนตัว ณ เส้นกึ่งกลางสนาม บริเวณจุดยืนของผู้ตัดสินที่ 4 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน และต้องกลับเข้าเขตเทคนิคหรือห้องพักนักกีฬาโดยทันที หากฝ่าฝืนจะถูกคาดโทษใบเหลือง

กติกาข้อที่ 4 : อุปกรณ์ของผู้เล่น

– ผู้เล่นที่ใส่เสื้อตัวใน ต้องใส่เสื้อสีเดียว กับเสื้อเเข่งขันเท่านั้น

กติกาข้อที่ 5 : ผู้ตัดสิน

ในกรณีที่ไม่สามารถระบุตัวตน ผู้กระทำผิดได้ว่าเป็นใคร ในเขตเทคนิค หัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือตำแหน่งรองลงไปต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

– หากผู้เล่นถูกทำฟาวล์ ในเขตโทษ และต้องการเป็นผู้ยิงจุดโทษ ด้วยตัวเอง แต่ได้รับบาดเจ็บ จนต้องรับการปฐมพยาบาล สามารถปฐมพยาบาลในสนามได้ โดยไม่ต้องออกนอกสนามแต่อย่างใด

กติกาข้อ 7 : ระยะเวลาของการแข่งขันและการพักดื่มน้ำ

– กำหนดเวลาที่พักดื่มน้ำให้ชัดเจน เป็น 2 ช่วงเวลา คือ “Drinks Breaks” และ “Cooling Breaks”

โดย drinks breaks (พักครึ่งช่วงต่อเวลาพิเศษ) มีเวลาพักไม่เกิน 1 นาที ส่วน cooling breaks (พักในเวลาปกติ) มีเวลาพัก 90 วินาที – 3 นาที

กติกาข้อ 8: การเริ่มการแข่งขัน และการเริ่มเล่นใหม่

– ทีมที่ชนะการเสี่ยงทายเหรียญก่อนเริ่มเกม สามารถเลือกได้ว่า จะเลือกเป็นฝ่ายเริ่มเล่นก่อน หรือเป็นฝ่ายเลือกแดน

– หากมีการดร็อปบอล ในกรอบเขตโทษ ผู้รักษาประตูต้องเป็นคนเตะบอลเริ่มเกมอีกครั้งเท่านั้น

สำหรับการดร็อปบอลนอกกรอบเขตโทษ ทีมของผู้เล่น ที่สัมผัสบอลคนสุดท้าย จะได้เตะลูกเริ่มเกมต่อ โดยทีมฝ่ายตรงข้าม ต้องอยู่ห่างออกไป ไม่น้อยกว่า 4 เมตร

กติกาข้อ 9 : ลูกบอลอยู่ในและนอกการเล่น

– หากลูกฟุตบอลสัมผัสโดนตัวผู้ตัดสิน และบอลอยู่ในสนาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเล่นของทีมบุก, บอลเปลี่ยนทางเข้าประตู หรือทีมสูญเสียการครองบอล ให้ถือว่าบอลนั้น เป็นบอลอยู่นอกการเล่น และเริ่มเกมใหม่อีกครั้ง ด้วยการดร็อปบอล ณ จุดสัมผัสผู้ตัดสิน

หากบอลสัมผัสโดนตัวผู้ตัดสิน แล้วไปชนเสา, ชนคาน หรือธงเตะมุม แล้วกลับเข้ามาในสนามให้ถือว่าเกมยังดำเนินต่อไป

กติกาข้อ 12: การเล่นที่ผิดกติกาและประพฤติผิด

– หากมือหรือแขนของผู้เล่นฝ่ายรุก โดนบอลแล้วทำให้ได้ประตูหรือมีโอกาสทำประตู ให้ถือว่าเป็นแฮนด์บอลทุกกรณี โดยไม่พิจารณาว่าเจตนาหรือไม่

– เจ้าหน้าที่ทีม สามารถถูกกล่าวตักเตือน หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: แสดงพฤติกรรมที่ไม่มีความเคารพ หรือมารยาทในสนามแข่ง, ไม่เชื่อฟังคำกล่าวของทีมงานผู้ตัดสิน, แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน ของผู้ตัดสิน, ออกจากเขตเทคนิค โดยไม่ได้รับอนุญาติ

– ผู้เล่นหรือทีมงาน สามารถถูกคาดโทษ (แจกใบเหลือง) หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: แสดงพฤติกรรมที่แสดงถึงการไม่เคารพผู้ตัดสิน อย่างชัดเจนในพื้นที่เขตเทคนิค, ตั้งใจถ่วงเวลาการแข่งขัน, เข้าในเขตเทคนิคของทีมคู่แข่ง, โยนหรือเตะขวดน้ำ, ทำพฤติกรรมล้อเลียนผู้ตัดสิน เช่น การปรบมือ, เข้าไปในเขตรีวิวของผู้ตัดสิน, กดดันให้ผู้ตัดสินแจกใบเหลืองหรือใบแดง, กดดันให้ผู้ตัดสินดู VAR, แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เคารพต่อเกมการแข่งขัน

– เจ้าหน้าที่ทีม สามารถถูกไล่ออก (แจกใบแดง) หากปฏิบัติพฤติกรรมดังต่อไปนี้: ตั้งใจถ่วงเวลา ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทำเกมบุก ด้วยวิธีการเตะบอลทิ้ง หรือไม่คืนลูกบอล, เดินออกจากเขตเทคนิค เพื่อแสดงพฤติกรรมไม่มีมารยาท หรือต่อว่าทีมงานผู้ตัดสิน, เข้าในเขตเทคนิคของฝ่ายตรงข้าม เพื่อท้าทาย หรือแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว, เขวี้ยงหรือเตะสิ่งของลงสนาม, เดินลงสนามเพื่อท้าทายผู้ตัดสิน, เดินลงสนามเพื่อขัดขวางการเล่น, แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่นการกัด หรือการถ่มน้ำลาย ใส่ผู้เกี่ยวข้องในเกมการแข่งขัน, ได้รับใบเหลืองใบที่ 2, แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงเกินความจำเป็น ในการเข้าปะทะ

กติกาข้อ 13: การเตะโทษ (การยิงฟรีคิก)

– หากมีการตั้งกำแพงป้องกันลูกฟรีคิก ตั้งแต่ 3 คน ผู้เล่นทีมรุกต้องอยู่ห่างจากกำแพงโดยรอบอย่างน้อย 1 เมตร

กติกาข้อ 14: การเตะโทษ ณ จุดโทษ

– เมื่อมีการยิงจุดโทษ ขาอย่างน้อยหนึ่งข้างของผู้รักษาประตู ต้องยืนอยู่บนเส้นประตู

– หากผู้ยิงจุดโทษ สัมผัสลูกฟุตบอลติดต่อกัน ก่อนที่ลูกบอลจะสัมผัสผู้เล่นคนอื่น จะเสียฟรีคิกให้ฝ่ายตรงข้าม

กติกาข้อ 15: การทุ่ม

– นักฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม ต้องยืนห่างจากเส้นขอบสนาม ณ จุดตัดที่ลูกออก เป็นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร

กติกาข้อ 16 : การเตะจากประตู

– การเตะจากประตู เมื่อลูกบอลมีเคลื่อนที่อย่างชัดเจน ให้ถือว่าบอลอยู่ในการเล่นทันที โดยไม่จำเป็นต้องออกจากรอบเขตโทษ

– หากมีการเตะจากประตู แล้วผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยังอยู่ในกรอบเขตโทษ เพราะไม่มีเวลาให้ออกจากกรอบเขตโทษ ให้เริ่มดำเนินเกมต่อได้ทันที (ฝ่ายรุกมีการเล่นเร็ว ให้ถือว่าบอลอยู่ในการเล่น)

หากผู้เล่นคนนั้น ขัดขวางการเล่นของผู้รักษาประตู ให้ผู้รักษาประตูเล่นลูกตั้งเตะจากประตูใหม่อีกครั้ง

ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจ กฎ กติกา การแข่งขัน ในส่วนที่แก้ไขใหม่ รวมทั้งทำสกู๊ปให้กับสโมสรสมาชิกในระดับ ไทยลีก 1 และ ไทยลีก 2 และแฟนบอลไทยทราบไปบางส่วนแล้ว

ในการประชุมคณะกรรมการให้มีมติจัดส่งคำอธิบายกฎกติกาที่แก้ไขใหม่ พร้อมทำคลิปวีดีโอ ประกอบคำอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางเว็ปไซต์ของสมาคมฯ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะนำไปใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม นี้ กับทั้งทางสมาคมฯ จะได้ปรับปรุงแก้ไขว่าด้วยการลงโทษ วินัย มารยาท สมาคมฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้สอดคล้องกับกฎกติการการแข่งขันที่แก้ไขใหม่ เพื่อบังคับใช้ต่อไป

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้หารือกรณีที่เป็นข่าวในโซเซียลมีเดีย ในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก คู่ระหว่าง สโมสร ตราด เอฟซี และ สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในช่วงท้ายเกมการแข่งขัน สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ลูกฟรีคิกนอกเขตโทษ ในจังหวะนั้นสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถือโอกาสเล่นเร็ว นำมาซึ่งการได้ประตู ขึ้นนำ 1-0

สโมสร ตราด เอฟซี ทำการประท้วงว่าเป็นการเล่นไม่ตรงจุดและลูกยังไม่นิ่ง แต่ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการร้องเรียนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินมายังสมาคมฯ แต่อย่างใด คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท จึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ทำการพิจารณาเพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม และสร้างความชัดเจนให้กับสังคม โดยสั่งให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตัดสินทำการตรวจสอบว่าการใช้ดุลยพินิจของผู้ตัดสินให้เป็นประตูถูกต้องตามกติการการแข่งขันหรือไม่อย่างไร

ส่วนกรณีที่สโมสร ตราด เอฟซี ร้องเรียนมายังสมาคมฯ กล่าวหาว่าหัวหน้าผู้ฝึกสอน สโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งอยู่ระหว่างการลงโทษห้ามทำหน้าที่ ขณะที่นั่งอยู่บนอัฒจันทร์ มีการใช้วิทยุสื่อสารและโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยเชื่อว่าเป็นการสั่งการไปยังม้านั่งสำรองในการวางแผนเกมการเล่นให้กับทีมบุรีรมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งมีเพียงภาพถ่ายหัวหน้าผู้ฝึกสอนกำลังใช้วิทยุสื่อสารและโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยยังไม่ได้ข้อยุติว่าหัวหน้าผู้ฝึกสอนดังกล่าวได้ติดต่อสื่อสารกับใคร เรื่องอะไร อย่างไร อันเกี่ยวกับที่ถูกลงโทษอันเป็นองคืแห่งความผิดหรือไม่ จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จากทั้ง 2 ผู้ควบคุมการแข่งขัน ผู้ตัดสินที่ 4 และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งอาจจะต้องเชิญผู้แทนจากสโมส ตราด เอฟซี เข้าชี้แจงกรณีนี้เพิ่มเติมประกอบ และมารับฟังผลการพิจารณาเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินกรณีการให้ประตูดังกล่าว ในโอกาสต่อไปด้วย


You must be logged in to post a comment Login