- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เปลี่ยนหุ่นให้เป๊ะ! ด้วยไข่ไก่
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : อ.นพ.กรภัทร มยุระสาคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23-30 สิงหาคม 2562)
“อ้วนลงพุง” ไม่ใช่เพียงทำให้รูปร่างดูไม่สวยงาม แต่ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่กลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ
กลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ หรือ NCDs (Non-communicable diseases) ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคความดันโลหิตสูง
โรคเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อโรค แต่เป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ และที่สำคัญการกินอาหารอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงชนิด ปริมาณ และเวลาที่บริโภคไม่เหมาะสม ส่งผลให้ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงขึ้น น้ำหนักตัวเกินจนกระทั่งอ้วน
จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2561 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 1 ใน 10 มีภาวะอ้วน สอดคล้องกับข้อมูลของ Global Nutrition Report 2017 ที่เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยใน 141 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยมีปัญหาอ้วนมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 6% ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยด้านการเลี้ยงดูและการบริโภคอาหาร
การปรับเปลี่ยนการบริโภคและพฤติกรรมการใช้ชีวิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะอ้วนได้
จากการวิจัยและตรวจรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนหลายรายที่คลินิกพิเศษ โรงพยาบาลศิริราช มีตัวอย่างความสำเร็จของการลดความอ้วนของผู้ป่วยที่เข้ารักษาภาวะน้ำหนักเกินที่มากถึง 192 กิโลกรัม ด้วยการปรับวิธีการบริโภคอาหารโดยไม่ใช้ยา ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดๆ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโภชนาการ
ผู้ป่วยรายนี้ใช้การรักษาด้วยวิธีควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เรียกว่า “คีโตเจนิค ไดเอต” (Ketogenic Diet) คือลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลงกว่าร้อยละ 10-20 จากปริมาณที่บริโภคอยู่เดิม เช่น ลดปริมาณการกินแป้ง ผลไม้ นม ผักหัว ผักดอก แล้วเพิ่มเติมอาหารอื่นๆที่เป็นพวกเนื้อสัตว์ นม ไข่ ผักใบให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายอิ่มท้องและอิ่มนาน
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ให้รับประทานอาหารตามที่กล่าวข้างต้น เช่น ไก่ย่าง ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ต้ม กุ้ง หมู ปลา ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่หาซื้อง่ายและทำให้อิ่มท้อง ในช่วงแรกที่ลดน้ำหนักผู้ป่วยรายนี้กินไข่มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะเตรียมง่าย หาง่ายที่สุด ร่วมกับกินอาหารอื่นๆ เช่น กาแฟดำ หมูปิ้ง ไก่ย่าง เป็นต้น
จากนั้นค่อยลดปริมาณลงตามน้ำหนักตัวที่ลดลง ตามความต้องการของร่างกาย และตามคำแนะนำของแพทย์ทางด้านโภชนาการ ในระหว่างนั้นแพทย์ได้ติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด มีการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเป็นประจำทุก 1-2 เดือน หลังจากผู้ป่วยกินอาหารตามที่แพทย์แนะนำอย่างมีวินัยเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ปัจจุบันน้ำหนักลดเหลือ 110 กิโลกรัม จากเดิม 192 กิโลกรัม สามารถลดไปได้ถึง 80 กิโลกรัม โดยที่ระดับไขมัน/โคเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเป็นปกติดี
น้ำหนักตัวที่หายไปจากการกินที่ถูกต้องของผู้ป่วยรายนี้จึงช่วยคลายกังวลและข้อสงสัยให้กับคนทั่วไปเกี่ยวกับการบริโภคไข่ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้การกินไข่ปริมาณมากจะไม่ได้เหมาะกับทุกคน แต่แสดงให้เห็นว่าไข่แดงไม่ได้น่ากลัวเสมอไปหากได้รับการดูแลและติดตามโดยผู้เชี่ยวชาญร่วมกับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ “ไข่ไก่” ยังถือเป็นโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี สามารถบริโภคได้ทุกวัน ทุกเพศ ทุกวัย มีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุธรรมชาติต่างๆที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต เสริมสร้างส่วนที่สึกหรอ ช่วยสร้างเซลล์สมอง ฯลฯ แม้ว่าก่อนนี้จะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องโคเลสเตอรอลในไข่ไก่อยู่บ้าง
ข้อมูลปัจจุบันพบว่าโคเลสเตอรอลในอาหารสัมพันธ์กับโคเลสเตอรอลในเลือดน้อยมาก ดังนั้น ในปี 2558 United States Department of Agriculture (USDA) จึงได้ยกเลิกข้อห้ามเกี่ยวกับปริมาณสูงสุดของการบริโภคโคเลสเตอรอล อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีโคเลสเตอรอลมักมาคู่กับไขมันอิ่มตัว หรือมักประกอบอยู่ในอาหารที่ทอด ที่หวานหรือเค็ม ดังนั้น ผู้บริโภคยังจำเป็นต้องระมัดระวังสำหรับอาหารที่รับประทานด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ปริมาณการบริโภคไข่ของคนไทยเมื่อปี 2561 จากข้อมูลกรมปศุสัตว์จะพบว่าคนไทยบริโภคไข่ประมาณ 220 ฟอง/คน/ปี ซึ่งยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างเม็กซิโกบริโภคไข่มากถึง 430 ฟอง/คน/ปี จีนบริโภคราว 370 ฟอง/คน/ปี ญี่ปุ่นบริโภคเกือบ 340 ฟอง/คน/ปี สหรัฐอเมริกาบริโภคราว 300 ฟอง/คน/ปี
ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) จึงผลักดันโครงการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคไข่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการรณรงค์อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562-2566) กำหนดเป้าหมายเพิ่มการบริโภคไข่ของคนไทยเป็น 300 ฟอง/คน/ปีในปี 2566
รู้ถึงคุณประโยชน์จากการบริโภคไข่ที่ช่วยเสริมพลังกาย สมองฉับไว แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ อยากให้ลองกินกันดู สุขภาพดีเริ่มที่คุณครับ
You must be logged in to post a comment Login