วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“อังคาร อุปนันท์” ทายาทวงการงานศิลปหัตถกรรม นำเครื่องประดับ “ยัดลาย” เทคนิคเชิงช่างชั้นสูง อวดสายตาคนเมืองในงาน SACICT Craft Fair 2019

On August 28, 2019

“เทคนิคเครื่องประดับยัดลาย ทำได้ทั้งเงิน และทอง เป็นงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมของล้านนา ที่มีประวัติยาวนานกว่า 50 ปี เป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยความใจเย็น และมีความประณีต เป็นมรดกทางภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่าง ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากคุณพ่อ ส่วนตัวมองว่า เป็นงานที่มีมนต์เสน่ห์ ดูอ่อนช้อย ช่างหัตถกรรมทำด้วยใจ เพื่อส่งต่องานศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่าแก่ผู้ซื้อ”(อังคาร อุปนันท์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2558)

เครื่องประดับ “ยัดลาย” เป็นงานหัตถกรรมที่เลื่องชื่อของเครื่องเงินบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบเงิน หรือ ทอง ที่มีค่าความบริสุทธิ์สูง 99% ไม่ใช้เงินที่มีส่วนผสมของแร่ชนิดอื่น อาทิ ทองแดง หรือทองเหลือง เพราะจะทำให้มีความเปราะ หักง่าย จนการดัดขึ้นรูปทำได้ยาก โดยกรรมวิธีในการผลิตเริ่มต้นจากการนำเงินมาหลอมเทเป็นแท่ง แล้วจึงนำมารีดจนแบนและดึงเป็นเส้นขนาดต่างๆ สำหรับใช้ทำเครื่องประดับประเภทต่างๆ ทั้งต่างหู สร้อย เข็มกลัด ฯลฯ

2V4A9871

เสน่ห์ของเครื่องประดับยัดลาย ที่สืบทอดโดย อังคาร อุปนันท์ คือ ความประณีต และลวดลายที่สะท้อนประเพณี วัฒนธรรมของล้านนา ที่สร้างสรรค์เป็นลวดลายบนเครื่องประดับชิ้นต่าง ๆ เช่น ลายดอกกาสะลอง ตุง โคมล้านนา หรือเป็นคอลเล็คชั่นตามเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น ปัจจุบัน มีผู้ที่ยังคงสืบสานงานหัตถกรรมเครื่องประดับยัดลายจำนวนน้อยราย และเป็นเครื่องประดับที่หาชมได้ยาก ซึ่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้นำศิลปหัตถกรรมยัดลายมาให้เป็นที่รู้จัก และยังได้เชิดชูให้ “อังคาร อุปนันท์ เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558”นอกจากนี้ ยังได้จัดแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตชาวล้านนา ภายในงาน SACICT Craft Fair 2019 และงานต่าง ๆ ของ SACICT ซึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชื่นชมผลงาน และยังเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป

2V4A9876

2V4A9881

2V4A9888


You must be logged in to post a comment Login