วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นักวิชาการเกษตร ไขข้อสงสัย พาราควอต

On September 4, 2019

พาราควอตเป็นพิษ กัญชาเป็นพิษ ยาพาราเซตามอลเป็นพิษ น้ำเปล่าเป็นพิษ หากรับเข้าร่างกายเป็นปริมาณมากเกินไป จะเปลี่ยนสรรพคุณจากคุณเป็นโทษ ดังนั้น อันตรายจึงเกิดจากการทำงานกับสารเคมีเหล่านี้ แล้วรับเข้าสู่ร่างกายหรือไม่ อย่างไร สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จึงขอนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ พาราควอต โดยศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมไทย

ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืช ไม่ใช่สารกำจัดแมลงศัตรูพืช มีคุณสมบัติทางชีวภาพ โดยออกฤทธิ์เฉพาะในส่วนที่เป็นสีเขียว (คลอโรฟิลล์) ของวัชพืชเหนือดิน เมื่อโดนแสงแดด จะทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้วัชพืชเหี่ยวและแห้งตาย ออกฤทธิ์รวดเร็ว เมื่อตกลงสู่ดิน จะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคของดินอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากพาราควอตเป็นประจุบวกและดินหรืออินทรีย์วัตถุเป็นประจุลบ และหมดฤทธิ์ทันที จึงไม่ซึมเข้าสู่ราก ดังนั้นที่บอกว่าพาราควอตเข้าทางรากพืชแล้วซึมเข้าสู่ต้นพืช ขึ้นไปสู่ใบพืชผัก สะสมจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจึงเป็นไม่ได้  เมื่อพาราควอตไม่ซึมเข้าราก จึงไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกัน ช่วยรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ รวมทั้งพาราควอตที่ยึดแน่นกับดิน จะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินใช้ระยะเวลาประมาณ 34-46 วัน และหากมีการสะสมในดิน และเป็นพิษจริง วัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต และเกษตรกรคงปลูกพืชไม่ขึ้น ยกตัวอย่างมันสำปะหลัง ที่เป็นพืชหัวใต้ดิน ยังสามารถเติบโตในดินได้ดีมากหลังจากฉีดพ่นพาราควอตในพื้นที่นั้น อย่าลืมว่าประเทศไทยมีการใช้สารพาราควอตมานานกว่า 50 ปี ถ้าหากดินไม่ดูดซับพาราควอตจนมีการล้นออกมา เหมือนที่เป็นข่าว หรือไม่มีการย่อยสลายพาราควอตในดินด้วยแสงแดด และจุลลินทรีย์ พืชต่างๆ ที่เกษตรกรปลูก เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง คงไม่สามารถเติบโตได้ เช่นเดียวกัน มีความเข้าใจผิดว่า พาราควอต ปนเปื้อนในน้ำ ในสัตว์น้ำ ทำให้เป็นอันตราย แต่ความจริงแล้ว พารา ควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด ส่วนประเด็นสุขภาพที่เป็นข่าว เกษตรกรเหยียบย่ำในพื้นที่น้ำขังแล้วเป็นโรคเนื้อเน่านั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ ก็ได้ออกมาบอกแล้วว่าเกิดจากเชื้อโรคเข้าไปในบาดแผลไม่เกี่ยวกับสารเคมีแต่อย่างใด

2

ทั้งนี้ ท้ายที่สุด ยังคงมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในอีกหลายประการเกี่ยวกับพาราควอตกับการเกษตร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้พาราควอตในนาข้าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีการใช้สารดังกล่าวในแปลงปลูก เกษตรกรใช้กำจัดวัชพืชบริเวณเพียงคันนาเท่านั้น การนำเสนอข่าวพาราควอตเรื่องความเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นการเสนอข่าวที่ขัดแย้งและเกินไปไกลจากข้อมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก และสับสนต่อผู้บริโภค อีกทั้ง กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต่างประเทศให้ความเชื่อถือ  ก็ได้มีการติดตามการปนเปื้อนพาราควอตในผัก ผลไม้ และแหล่งน้ำในสิ่งแวดล้อม อยู่เสมอก็ไม่พบการปนเปื้อน ไม่เกินระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินทางวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และหน่วยงานภาครัฐในหลายประเทศมาอย่างต่อเนื่องกว่า 50 ปี

“พาราควอต เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตที่จะช่วยลดต้นทุน และพัฒนาศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่มีสารใดมาทดแทนพาราควอตได้ ที่แนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ก็มีการผสมพาราควอตเข้าไป จุดสำคัญคือต้องส่งเสริมความปลอดภัยให้กับเกษตรกร ให้ใช้พาราควอตได้อย่างถูกต้อง สำหรับประเทศไทยตามนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเกษตรกรไทยสู่เกษตร 4.0 และนโยบาย “คืนกำไรให้เกษตรกร” สิ่งนี้ จะเป็นเพียงนโยบายขายฝัน หรือ ฝันเป็นจริง คงต้องฝากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพิจารณาอย่างรอบคอบ” ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต  กล่าว


You must be logged in to post a comment Login