- อย่าไปอินPosted 20 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ทานคือฐานของสังคม
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 6-13 กันยายน 2562)
คำสอนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของทุกศาสนาคือการส่งเสริมในเรื่องการแบ่งปันหรือการบริจาคทาน เพราะหากมองภายนอกมันคือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ยิ่งมีการแบ่งปันความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่น ถ้าไม่มีการแบ่งปันความสัมพันธ์ก็จะยิ่งห่างและจางหายกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงลบ ซึ่งไม่ดีต่อทั้งสองฝ่ายคือ ผู้มั่งมีและผู้ไม่มี
แต่ถ้ามองลึกๆ สิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่อยากแบ่งปันหรือบริจาคก็เพราะมลทินแห่งความตระหนี่ถี่เหนียวที่เกาะกินจิตใจมนุษย์อยู่ ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงใช้การบริจาคทานเป็นการขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้หมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่ เพื่อที่หัวใจของมนุษย์จะได้สะอาดผ่องแผ้วและมีความสุข
แต่เนื่องจากการบริจาคเป็นการให้บนพื้นฐานของความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ บางคนจึงบริจาคด้วยความเต็มใจ ในขณะที่บางคนบริจาคด้วยความไม่เต็มใจ บางคนมีมากแต่บริจาคน้อย ในขณะที่บางคนมีน้อยแต่บริจาคมาก คนมี 100 บาท บริจาค 20 บาท สัดส่วนของการบริจาคย่อมมากกว่าคนมี 100,000 บาท แต่บริจาค 200 บาท
เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าคนรวยยังรับผิดชอบต่อสังคมน้อยกว่าคนจน ดังนั้น ศาสนาจึงมีการกำหนดทานบังคับขึ้นมาให้คนมั่งมีต้องจ่าย เช่น ลูกหลานอิสราเอลที่นับถือศาสนายูดายต้องจ่ายทศางค์หรือหนึ่งในสิบของทุกสิ่งที่เขาหามาได้และเพาะปลูกได้ให้แก่วิหารของพระเจ้า
การบังคับจ่ายเช่นนี้ไม่ต่างจากการบังคับจ่ายภาษีนั่นเอง การบริจาคกับการจ่ายภาษีต่างกันตรงที่การบริจาคเป็นการให้โดยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ในขณะที่การจ่ายภาษีเป็นข้อบังคับ ใครไม่จ่ายถือเป็นการผิดกฎหมายและเป็นบาปทางศาสนา
เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มปฏิบัติภารกิจเผยแผ่อิสลามในเมืองมักก๊ะฮฺ ท่านไม่ได้เป็นพ่อค้าแล้ว แต่ภารกิจการช่วยเหลือคนยากจนและการปลดปล่อยทาสจำเป็นต้องใช้เงิน หลายคนอาจสงสัยว่าท่านได้เงินมาจากไหน คำตอบคือ จากการบริจาคของนางเคาะดีญะฮฺ ภรรยาเศรษฐินีของท่าน และจากสาวกผู้มีฐานะทางการเงินดี การบริจาคในลักษณะนี้เรียกว่าการ “เศาะดะเก๊าะฮฺ” ในศัพท์ทางวิชาการอิสลาม ในเวลานั้นบทบัญญัติเรื่องการจ่ายทานบังคับ (ซะกาต) ยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกฎเกณฑ์
เมื่อนบีมุฮัมมัดและมุสลิมต้องอพยพออกจากมักก๊ะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่มีทรัพย์สินติดตัวไป ทุกคนจึงอยู่ในสภาพขัดสน นบีมุฮัมมัดได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการผูกสัมพันธ์ฉันพี่น้องกันระหว่างมุสลิมชาวมักก๊ะฮฺกับมุสลิมชาวมะดีนะฮฺ และท่านได้สั่งมุสลิมในเมืองมะดีนะฮฺที่มีฐานะดีให้รับผู้อพยพจากมักก๊ะฮฺไปอุปการะ
ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องต่างท้องมารดาที่นบีมุฮัมมัดสร้างขึ้นนั้นมีความแนบแน่นถึงขนาดที่ว่าต่างฝ่ายต่างรับมรดกจากกันได้ แต่เมื่อบทบัญญัติเรื่องมรดกถูกประทานลงมาในตอนหลัง ความสัมพันธ์เช่นนี้ได้ถูกยกเลิกไป
ในขณะเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ ถึงแม้มุสลิมจะมีความขัดสน แต่นบีมุฮัมมัดได้ส่งเสริมบรรดาสาวกของท่านให้บริจาคทาน (เศาะดะเก๊าะฮฺ) สาวกบางคนจึงไปขายแรงงานและบางคนไปขายสินค้าในตลาดเพื่อนำเงินหรือไม่ก็สิ่งของมาบริจาคเป็นทาน ส่วนใครที่ไม่สามารถหาทรัพย์มาบริจาค ท่านได้แนะนำว่าการยิ้มก็เป็นทานอย่างหนึ่ง การให้ความช่วยเหลือคนอื่นยกของขึ้นพาหนะก็เป็นทานอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่การเก็บสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากข้างทางก็ถือเป็นทานอย่างหนึ่ง และการทำความดีทุกอย่างถือเป็นการทำทาน
ด้วยการที่ทุกคนสามารถทำทานได้โดยวิธีการง่ายๆดังกล่าวนี้เองที่ทำให้สังคมมุสลิมเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นประชาคม และค่อยๆเติบโตขึ้นเป็นประชาชาติในที่สุด
You must be logged in to post a comment Login