วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“ภาษีค้าออนไลน์”ทำให้ถูก วางแผนดี เสียไม่มาก

On September 13, 2019

หลังการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรประเด็นที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) หรือ “พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์” ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีผลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้องเปิดเผยข้อมูลบัญชีของผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ซึ่งจะส่งผลกับผู้ค้าออนไลน์ทั้งในรูปแบบนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

นี่คือที่มาของกระแสการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ที่ผู้ค้าทั้งหลายต่างตื่นตัว ซึ่งเรื่องนี้ “คุณป้อม” นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท TARAD Group และนักลงทุนบริษัท Startup ได้ให้เทคนิคและข้อคิดการวางแผนภาษี โดยเฉพาะธุรกิจการขายของออนไลน์ว่าทำอย่างไรให้เสียภาษีได้ถูกต้อง ไว้ในรายการ SME Clinic Influencer อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า

“เมื่อคุณมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ ยกเว้นจะมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท แต่หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษี โดยถ้าเป็นนิติบุคคลต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม และแม้จะเป็นบุคคลธรรมดาหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีก็ต้องเสียภาษี

ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงมาก สิ่งที่ผมแนะนำคือคุณอาจต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบุคคลธรรมดา บอกได้เลยว่าสรรพากรยุคนี้ทันสมัยมาก ข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็น Big Data ธุรกรรมการเงินไม่ใช่ความลับอีกต่อไป ข้อมูลเหล่านี้สรรพากรสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และถ้าหากตรวจพบภายหลังว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีโดนปรับหนักแน่นอน”

แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้อง “สำหรับธุรกิจการค้าออนไลน์ วิธีการคือ กรณีเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้ต้องทำการจัดเก็บข้อมูลว่าผู้ซื้อคุณเป็นใคร ขอหนังสือรับรองบริษัท เลขบัญชีผู้เสียภาษี ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาให้ขอสำเนาบัตรประชาชน เพื่อให้รู้ว่าเรามีรายได้จากใคร และทำการบันทึกข้อมูลต่างๆไว้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนภาษี เสียภาษี และส่งข้อมูลให้กับภาครัฐ เป็นเรื่องง่ายขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็มีภาระภาษี และต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและนำส่งรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน ฟังดูอาจจะยุ่งยากแต่ไม่ยาก เพราะปัจจุบันมีเครื่องมือ วิธีการ และผู้ให้บริการที่เข้ามาช่วยจัดการภาษีอยู่มาก หากคุณเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่ต้องเสียคือ 30% ของเงินได้ หากไม่วางแผนอาจต้องจ่ายเงินจำนวนไม่น้อย

“แต่ไม่ต้องตกใจ ทางออกของคุณคือการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งภาษีสูงสุดที่คุณจะต้องเสียคือประมาณ 20% ของเงินได้เท่านั้นเอง”

นายภาวุธกล่าวอีกว่า “ปัจจุบันเรามีเครื่องมือต่างๆบนโลกออนไลน์ที่จะช่วยวางแผนภาษี ไม่จำเป็นต้องจ้างบริษัทบัญชี เช่น ซอฟต์แวร์ฟรี ซึ่งใช้ไม่ยาก หากทำไม่เป็นจริงๆให้ลองปรึกษาบริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่แพงมาก บางแห่งมีบริการให้คนมาทำบัญชีภาษีแค่เดือนละพันกว่าบาทเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้คุณทำบัญชีและวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

และอย่างที่หลายท่านทราบดีว่าภาษี e-Payment หรือ พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ได้มีการประกาศใช้แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญคือ เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีคุณทุกบัญชีรวมกันในหนึ่งธนาคารเกิน 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินโอนรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ซึ่งธนาคารมีหน้าที่นำส่งข้อมูลธุรกรรมการเงินให้กับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบการจัดเก็บภาษีต่อไป

การหลบเลี่ยง หลีกภาษีในปัจจุบันทำได้ยากขึ้น หากคุณทำธุรกิจออนไลน์และมีการโอนเงินเข้าบัญชีมาอย่างต่อเนื่องเกิน 400 ครั้งต่อปี คำแนะนำคือวางแผนภาษีให้ดี หรือไปจดทะเบียนเป็นบริษัทเลยจะปลอดภัยมากกว่า”

นายภาวุธยังบอกวิธีวางแผนภาษีเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ขายของออนไลน์สามารถขอคำปรึกษาสำนักงานบัญชีที่อยู่ใกล้ๆตัวได้จากการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีบริการให้คำปรึกษาฟรี โดยเราให้ข้อมูลยอดขาย รายได้ ค่าใช้จ่าย บริษัทบัญชีจะบอกวิธีวางแผนภาษีให้ ถ้าไม่มั่นใจก็สามารถขอคำปรึกษาจากสำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ใกล้บ้านได้ เจ้าหน้าที่สรรพากรยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ และไม่ต้องกลัวเรื่องภาษี หากวางแผนดีๆจะเสียน้อยมาก แล้วคุณจะทำธุรกิจได้อย่างสบายใจ

หมายเหตุ : อ้างอิง https://www.youtube.com/watch?v=xj66o67a1GM

การจัดการภาษีอย่างไรให้ถูกต้องสำหรับธุรกิจออนไลน์


You must be logged in to post a comment Login