- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ศึกไดโนเสาร์
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 13-20 กันยายน 2562)
ลองจินตนาการดูว่าตอนที่มีคนพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกในโลก พวกเขาจะคิดว่ามันเป็นโครงกระดูกของสัตว์ประเภทไหน จะเรียกชื่อสัตว์ชนิดนี้ว่าอะไร และทำไมเวลาต่อมาจึงตั้งชื่อให้ว่าไดโนเสาร์ วันนี้เรามีคำตอบให้
โครงกระดูกไดโนเสาร์ถูกค้นพบมานานหลายพันปีแล้ว เพียงแต่มนุษย์ในยุคสมัยนั้นไม่มีใครรู้จักสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้ ถ้านับจากที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การค้นพบที่เมืองอู่เฉิน ประเทศจีน โดยฉางชวี่ เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล เขาจดบันทึกว่าเป็นโครงกระดูกมังกร สามารถรักษาได้สารพัดโรค เรียกได้ว่าเป็นยาครอบจักรวาล
โครงกระดูกที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารไม่เข้าพวกกับสัตว์ชนิดใดๆที่เคยเห็น ทำให้แต่ละคนจินตนาการกันไปต่างๆนานา เปรียบเทียบกับสัตว์ที่ปรากฏในตำนาน จนกระทั่งในปี 1676 จึงมีนักวิทยาศาสตร์หันมาสนใจศึกษาโครงกระดูกประหลาดอย่างจริงจัง
ถุงอัณฑะยักษ์
ปี 1676 เซอร์โทมัส เพนนิสัน พบโครงกระดูกท่อนขาส่วนบนขนาดใหญ่ของสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักในเหมืองหินปูนเมืองสโตนส์ฟิลด์ มณฑลออกซ์ฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ เซอร์โทมัสส่งโครงกระดูกให้กับโรเบิร์ต พล็อต ศาสตราจารย์ทางเคมีมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทำการวิเคราะห์ว่าเป็นโครงกระดูกของสัตว์ชนิดใด
โรเบิร์ตรู้แต่เพียงว่าโครงกระดูกที่ได้รับไม่เข้าพวกกับสัตว์ชนิดใดเลย เขาไม่รู้ว่าจะเรียกสัตว์เจ้าของโครงกระดูกนี้ว่าอะไร ด้วยอารมณ์ขันปนทะลึ่งที่มีอยู่ในก้นบึ้งหัวใจของผู้ชายแทบทุกคน โรเบิร์ตตั้งชื่อสัตว์ชนิดนี้ตามรูปลักษณ์ของโครงกระดูกว่า “Scrotum humanum” แปลว่า “ถุงอัณฑะมนุษย์”
ไดโนเสาร์ถูกเรียกว่าถุงอัณฑะมนุษย์นานกว่าร้อยปี ปรากฏให้เห็นอยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์ประเทศอังกฤษหลายฉบับ หลังจากศึกษาจนพอจะรู้ว่าโครงกระดูกที่พบเป็นสัตว์เลื้อยคลานดึกดำบรรพ์ ปี 1824 วิลเลี่ยม บักแลนด์ ก็ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Megalosaurus แปลว่า “สัตว์เลื้อยคลานขนาดมหึมา” เพราะไม่ต้องการให้คนรุ่นหลังมองนักวิทยาศาสตร์เป็นพวกชอบตลกโปกฮาไปวันๆ
สรุปว่า Megalosaurus เป็นไดโนเสาร์ชนิดแรกที่เรารู้จักและมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงปี 1842 มีการพบโครงกระดูกของสัตว์ขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น Hylaeosaurus Iguanodon และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งไม่เข้าพวกกับสัตว์ที่มีบนโลกในตอนนี้ ริชาร์ด โอเวน เสนอให้เรียกสัตว์ดึกดำบรรพ์กลุ่มนี้รวมๆกันว่า Dinosaur (ไดโนเสาร์) แปลว่า สัตว์เลื้อยคลานที่น่าสะพรึงกลัว
ยิ่งใหญ่เพราะขโมยงาน
พาโบล ปิกัสโซ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Good artists copy, great artists steal.” (ศิลปินที่เก่ง ลอกเลียนแบบ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ ขโมย) ดูเหมือนคำกล่าวนี้จะใช้ได้กับวงการวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน
ริชาร์ดสร้างผลงานให้กับวงการวิทยาศาสตร์อังกฤษมากมายจนได้รับพระราชทานตำแหน่งอัศวินในปี 1883 แต่ผลงานจำนวนมากนั้นขโมยมาจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่นเอามาเป็นของตัวเอง กรณีที่เด่นชัดที่สุดได้แก่การขโมยผลงานศึกษา Iguanodon ของกิเดียน แมนเทล ซึ่งทำขึ้นก่อนหน้าที่ริชาร์ดจะเอ่ยถึงนานหลายปี เป็นเรื่องเป็นราวถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ริชาร์ดเรียกร้องให้ศาลสั่งห้ามกิเดียนตีพิมพ์ผลงานของเขาอีก โดยให้เหตุผลว่ามีข้อผิดพลาดมากมาย
กิเดียนพบโครงกระดูก Iguanodon ครั้งแรกในปี 1820 แต่ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าเป็นโครงกระดูกสัตว์ชนิดไหน เขาเขียนบทความการค้นพบในปี 1822 กิเดียนใช้เวลาหลายปีศึกษาจนพบว่ามันคือโครงกระดูก Iguanodon จึงได้แถลงข่าวกับหนังสือพิมพ์แฮมป์เชอร์เทเลกราฟในปี 1825
ริชาร์ดพยายามหักล้างงานวิจัยของกิเดียน ทั้งสองฝ่ายขวนขวายหาหลักฐานมายืนยันงานวิจัยของตัวเอง ริชาร์ดมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนขณะที่กิเดียนต้องควักกระเป๋าตัวเอง เมื่อถึงปี 1838 เงินทุนของกิเดียนก็หมดลง การที่ริชาร์ดตามจิกกัดกิเดียนนั้นเชื่อกันว่าเป็นเพราะงานวิจัยหลายชิ้นของกิเดียนหักล้างงานวิจัยของริชาร์ด จึงทำให้ริชาร์ดไม่พอใจตามจองล้างจองผลาญ
ปี 1846 ริชาร์ดได้รับรางวัล Royal Medal จากการค้นพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่รูปร่างคล้ายปลาหมึก เขาตั้งชื่อมันว่า Belemnotheutis Owenii ภายหลังพบว่า โจเซฟ เพียซ นักบรรพชีวินสมัครเล่น ต่างหากที่เป็นคนแรกที่ค้นพบตั้งแต่เมื่อปี 1842 และตั้งชื่อมันว่า Belemnotheutis
คู่รักคู่แค้น
นักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาไดโนเสาร์คือ ออธนีล มาร์ช และเอ็ดเวิร์ด โคป สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน แรกเริ่มเดิมทีนักวิทยาศาสตร์สองคนนี้ถ้อยทีถ้อยอาศัยช่วยเหลือกันศึกษาค้นหาโครงกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์ รักกันมากจนถึงกับบางครั้งใช้ชื่อสกุลของอีกคนต่อท้ายชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ
ปี 1867 เอ็ดเวิร์ดตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบว่า Colosteus marshii เพื่อเป็นเกียรติให้กับออธนีล มาร์ช ต่อมาในปี 1869 ออธนีลตอบแทนด้วยการตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบว่า Mosasaurus copeanus เพื่อเป็นเกียรติให้กับ เอ็ดเวิร์ด โคป
แต่แล้วจู่ๆไม่รู้ว่าด้วยเหตุอันใด จากที่รักกลับเปลี่ยนเป็นเกลียดเข้ากระดูกดำ ช่วงชิงกันค้นหาโครงกระดูกไดโนเสาร์ บรรยายโจมตีผลงานของอีกฝ่าย หาวิธีขัดขวางไม่ให้อีกฝ่ายได้รับเงินทุนสนับสนุน พยายามขโมยผลงานของกันและกัน และที่เลวร้ายที่สุดคือพยายามทำลายสิ่งที่อีกฝ่ายค้นพบ
สุดท้ายแล้วทั้งคู่ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่รวมทั้งสิ้น 142 สายพันธุ์ โดยออธนีลนำโด่งไปด้วยคะแนน 86 สายพันธุ์ ขณะที่เอ็ดเวิร์ดทำได้แค่ 56 สายพันธุ์ แม้จะนับได้ว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว แต่ยังเทียบไม่ได้กับนักบรรพชีวินสมัครเล่นที่กำลังจะกล่าวถึง เนื่องจากเธอเป็นเพียงชาวบ้านที่ไร้การศึกษา แต่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักบรรพชีวินที่ยิ่งใหญ่หลายคน
สาวชาวบ้าน
แมรี่ แอนนิ่ง เกิดในครอบครัวยากจนในเมืองไลม์รีจิส ประเทศอังกฤษ พ่อของเธอเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ และหาซากฟอสซิลขายให้กับนักท่องเที่ยว เสียชีวิตตอนที่แมรี่อายุได้เพียง 11 ปี แมรี่จึงต้องทำหน้าที่ออกหาซากฟอสซิลมาขายเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยที่ไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ
ซากฟอสซิลที่แมรี่ค้นหาไม่ได้อยู่ตามพื้นราบ ส่วนใหญ่จะพบบริเวณหน้าผา ครั้งหนึ่งแมรี่ต้องสูญเสียสุนัขที่เลี้ยงเพราะมันตามเธอไปช่วยหาซากฟอสซิล หินก้อนใหญ่ร่วงหล่นมาทับสุนัขตายต่อหน้าต่อตา เฉียดเธอไปเพียงนิดเดียวเท่านั้น
แมรี่พยายามค้นคว้าด้วยตนเองโดยการขอยืมหนังสือเกี่ยวกับกายวิภาคของสัตว์ พูดคุยสอบถามกับคนที่มีความรู้ เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่เธอพบนั้นเป็นส่วนไหนของสัตว์ จะได้นำมาประกอบเป็นรูปเป็นร่างได้ถูกต้อง
นักวิทยาศาสตร์หลายคนเดินทางมาติดต่อขอซื้อซากฟอสซิลเหล่านั้นโดยไม่เคยเอ่ยถึงชื่อแมรี่ในงานวิจัย แมรี่เป็นสาวชาวบ้านไร้การศึกษา ไม่ควรค่าแก่การให้เครดิตงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าแมรี่จะเป็นบุคคลแรกที่พบซากสมบูรณ์แบบของ Plesiosaurus เมื่อปี 1823 รวมถึงซากฟอสซิลของไดโนเสาร์อื่นๆอีกหลายสายพันธุ์
แมรี่หากินอยู่กับซากฟอสซิลนานหลายปีจนกระทั่งมันร่อยหรอไม่มีให้พบอีก แมรี่จำเป็นต้องนำซากฟอสซิลที่เก็บเอาไว้มาวางขายเพื่อนำเงินมาประทังชีวิต พ.ท.โทมัส บิร์ช หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่รู้ข่าวก็เกิดความสงสาร เสนอขายซากฟอสซิลทั้งหมดที่เขาซื้อมาจากแมรี่ ให้กับกิเดียน แมนเทล ในราคา 400 ปอนด์ (ค่าเงินปัจจุบันประมาณ 48,000 ปอนด์) และมอบเงินจำนวนนี้ทั้งหมดให้กับแมรี่
เคราะห์กรรมของแมรี่ยังไม่หมดแค่นั้น ในปี 1835 เธอถูกคนโฉดหลอกลวงเอาเงินเก็บทั้งหมดไปจนสิ้นเนื้อประดาตัว วิลเลี่ยม บักแลนด์ นักบรรพชีวินที่มีชื่อเสียง โน้มน้าวรัฐบาลอังกฤษให้อนุมัติเงินช่วยเหลือแมรี่ปีละ 25 ปอนด์ (ค่าเงินปัจจุบันประมาณ 3,000 ปอนด์)
แมรี่เสียชีวิตในปี 1847 ด้วยโรคมะเร็งทรวงอก เธอเป็นผู้หญิงคนแรกและเป็นคนแรกที่ไม่ใช่สมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอนที่ได้รับการสดุดีจากราชสมาคมแห่งลอนดอน แมรี่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลต่อวงการวิทยาศาสตร์
1.โครงกระดูก Scrotum humanum
2.ริชาร์ด โอเวน
3.Iguanodon ตามการคาดเดาของกิเดียน แมนเทล
4.การขุดหาซากฟอสซิลไดโนเสาร์
5.(ซ้ายและกลาง) Belemnotheutis โดยริชาร์ด โอเวน (ขวา) Belemnotheutis โดยโจเซฟ เพียซ
6.เอ็ดเวิร์ด โคป และออธนีล มาร์ช
7.แมรี่ แอนนิ่ง
8.หน้าผาที่แมรี่ขุดหาซากฟอสซิล
9. Plesiosaurus เขียนบันทึกโดยแมรี่
You must be logged in to post a comment Login