วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

SACICT..สืบสาน…งานครู… สู่ความหวังของหัตถศิลป์ไทย

On September 18, 2019

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดกิจกรรมพิเศษพิธี “สักการะ ครู อาจารย์งาน ช่าง” เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างเสริมศิริมงคลให้กับครู “ช่าง” ในทุกสาขา โดยมีครูศิลป์แห่งแผ่นดิน  ครูช่าง ช่างศิลป์ และทายาท ให้เกียรติร่วมงาน อาทิ ครูวาที ทรัพย์สิน ทายาทช่าง ผู้สืบทอดองค์ความรู้ ศิลปหัตกรรม และอาชีพนายหนัง และช่างแกะหนังตะลุง ของบิดา ครูสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ปี พุทธศักราช 2549 มาด้วยความรัก ความภาคภูมิใจในอาชีพ และงานหัตถศิลป์ของไทย กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายในงาน “หัตถกรรมแห่งบรรพชนไทย ใต้ร่มพระบารมี” นิทรรศการแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมเก่าแก่ ทรงคุณค่าและล้ำค่า ณ หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) กล่าวว่า   “โดยปรกติครูศิลป์ ครูช่าง และช่างฺศิลป์ แต่ละท่านก็มีการระลึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์และมีการไหว้ครู ด้วยตัวเองแบบทั่วๆ ไป ซึ่ง SACICT เล็งเห็นว่าวัฒนธรรมประเพณีไหว้ครูมีความสำคัญ เป็นพิธีที่สร้างขวัญกำลังใจและเสริมสิริมงคลแก่ทุกคน จึงจัดพิธีแบบโบราณเต็มรูปแบบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ วรวินัย หิรัญมาศ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ด้านงานหัตถกรรมเครื่องรัก “หัวโขน” เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครู  ซึ่งพิธีดังกล่าวนับว่าหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นการสืบสานประเพณีโบราณ พร้อมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีประสบการณ์การไหว้ครูอย่างแท้จริง เสริมสร้างสิริมงคลให้ทั้งกับตัวเองและครอบครัวอีกด้วย”

2

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษ “เปิดกรุ “ผ้า” หาเจ้าของ (ใหม่) จัดประมูลผ้าของนักสะสม ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า และผู้ที่รักในผ้าไทย อาทิ อาจารย์แก้วสิริ เอเวอร์ร่ิงแฮม (คุณแม่ของ อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม นักแสดงชื่อดัง) อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ อาจารย์โกมล พานิชพันธ์ คุณพิจิตรา บุณยรัตพันธ์ุ ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อพิจิตรา คุณอัครเดช นาคบัลลังก์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ “สะบันงา” จังหวัดเชียงใหม่ โดยรายได้ส่วนหนึ่งจากประมูลภายหลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้กับสมาคม “ครูช่าง ศิลปหัตถกรรม”  ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย SACICT มีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือครูศิลป์ ครูช่าง ช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิกที่เจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ ถือว่าคนที่รักศิลปหัตถกรรมได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เพราะบุคคลเหล่านี้มีล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ และมีคุณค่าต่อวงการศิลปหัตถกรรม หากไม่มีครู งานหัตถศิลป์ก็จะสูญหายไป

3

ตลอดระยะเวลาในการทำงานกว่า 4 ปีที่ SACICT ก่อนจะครบวาระในปี ผ.อ. อัพวัน คาดหวังว่าหัตถศิลป์ไทยต่อมีการต่อยอดอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องระบบการศึกษาที่ให้พัฒนาจนสามารถเป็นอาชีพ ของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ท-อัพหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น สิ่งที่ SACICT มุ่งเน้นให้ความสำคัญคือ ด้านคุณค่าของงานหัตถศิลป์ และทักษะฝีมือของผู้ผลิต หรือช่างหัตถศิลป์ทุกคน เนื่องจากหัตถศิลป์ไทยเป็นงานทำมือตลอดทั้งกระบวนการ จึงทำให้มีต้นทุนสูง และผลิตได้ในปริมาณที่จำกัด ดังนั้น การนำ technical craft หรือ เทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น การเตรียมวัตถุดิบ การสไลด์ เปลือกหอย อาจมีส่วนช่วยให้งานศิลปหัตถกรรมเติบโตได้มากกว่านี้ รวมไปถึงการสนับสนุนจากระบบการศึกษา ที่มีการนำสอนทักษะงานศิลปหัตถกรรมพื้นฐาน เช่น งานถม งานคร่ำ งานปั้น หรืองานเขียนหน้าโขน ในหลักสูตรโรงเรียนช่างศิลป์หรือ อาชีวศึกษาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการสืบสาน สารต่อ และเกิด พลังความคิดใหม่ๆ  คนรุ่นใหม่จะสามารถเข้างานหัตถศิลป์ไทยได้ง่ายขึ้น กลุ่มสตาร์ทอัพก็จะมีเพิ่มมากขึ้น เป็นการพัฒนาต่อยอดแบบองค์รวมและยั่งยืน

4


You must be logged in to post a comment Login