- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
สธ. ร่วมกับเครือข่าย แถลงข่าวการรณรงค์เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2562
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวการรณรงค์เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2562 (World Rabies Day 2019) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี โดยเน้นขอความร่วมมือเจ้าของสัตว์เลี้ยง ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยการทำหมันถาวร และลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้ายด้วย คำแนะนำ 5 ย.
วันนี้ (19 กันยายน 2562) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวการรณรงค์เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2562 (World Rabies Day 2019) ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี และในปีนี้จัดกิจกรรมรณรงค์ในวันที่ 28 กันยายน 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี ภายใต้คำขวัญ “โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน”
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัส คนติดเชื้อจากการถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายเข้าสู่บาดแผล โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเมื่อสัมผัสโรคแล้ว ควรล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และต้องเข้ารับอย่างต่อเนื่องครบชุด ที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนสูงสุดในปี 2523 ที่มีผู้เสียชีวิต 370 ราย และลดลงจนในบางปีเหลือน้อยกว่า 10 รายต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) มีผู้เสียชีวิต 5, 5, 14, 11 และ 18 ราย ตามลำดับ ส่วนปี 2562 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ส.ค. 62) พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดสุรินทร์ และนครศรีธรรมราช จากข้อมูลพบว่าผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง สำหรับสถานการณ์โรคในคน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 พ.ค. 62) มีจำนวนผู้สัมผัสโรคที่เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพิ่มจาก 294,749 ราย ในปี 2561 เป็น 550,481 ราย ในปี 2562
ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้สำรวจความรู้ของประชาชนกว่า 11,000 คน พบว่าส่วนใหญ่มีความรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า จะเห็นได้จากข่าวสารต่างๆ เช่น การรับประทานเนื้อสุนัขที่กัด หรือใช้รองเท้าตีแผลบริเวณที่ถูกสุนัขกัด ด้วยความเชื่อที่ว่าจะไม่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ซึ่งการให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า คือ สร้างความตระหนักรู้และป้องกันตนเองจากโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ปฏิบัติตนถูกต้องภายหลังสัมผัสโรค และอย่าชะล่าใจเมื่อสัตว์ข่วนหรือกัด ให้รีบพบแพทย์ เป็นต้น คำแนะนำสำหรับประชาชน มีดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง 3.ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ โดยการทำหมันถาวร และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้ายด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ 1) อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2) อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3) อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4) อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5) อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การรณรงค์เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประเทศไทยโดยภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมปศุสัตว์ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และกรมควบคุมโรค ร่วมจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2562 นี้ จัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2562 ณ แจ้งวัฒนะ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี งานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ในงานได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานเปิดงาน ส่วนกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี กิจกรรมประกวดระบายสี การเสวนาเลี้ยงใส่ใจและรับผิดชอบ กิจกรรมรักน้องหมาต้องพาเดินได้ ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสุนัข การแสดงคอนเสิร์ตจากนักร้อง นักแสดง และจับรางวัลในงาน เป็นต้น นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังห่วงใยสุขภาพประชาชน เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูฝนและอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย จึงจัดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ด้านนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) จากฐานข้อมูล ThaiRabiesNet พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 250 ตัวอย่าง (จาก 4,383 ตัวอย่าง), 330 (8,781), 617 (8,908), 848 (8,598) และ 1,474 (9,631) ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 5.70, 3.78,6.93, 9.85, และ 15.30 ส่วนในปี 2562 พบสัตว์ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 301 ตัว คิดเป็นร้อยละ 5.03 ของตัวอย่างทั้งหมด 5,981 ตัว ซึ่งพบว่าลดลง ทั้งนี้ยังคงพบโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขมากที่สุด จังหวัดที่พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์สูงสุด คือ สงขลา พบ 35 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 11.63 รองลงมาคือ สุรินทร์ นครศรีธรรมราช ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ
สำหรับมาตรการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ของกรมปศุสัตว์ มีดังนี้ 1.บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และดำเนินการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกด้วยการเคาะประตูบ้านเพื่อค้นหาสัตว์สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยเน้นสอบถามประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง เกี่ยวกับอาการของสัตว์เลี้ยง ประวัติการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยง และค้นหาผู้สัมผัสสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 2.เร่งรัดดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวให้ครบทุกตัวในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค (Ring Vaccination) โดยใช้วัคซีนของกรมปศุสัตว์ 3.ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวในทุกพื้นที่ให้ครอบคลุมประชากรสุนัขและแมวอย่างน้อยร้อยละ 80 4.เก็บตัวอย่างสัตว์แสดงอาการสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่งตรวจวินิจฉัยทุกตัว 5.ในกรณีที่พบผู้มีประวัติสัมผัสสัตว์สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าให้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดให้ผู้สัมผัสได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน รวมถึงหากพบสุนัขหรือแมวแสดงอาการผิดปกติสงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอทุกพื้นที่ พร้อมทั้งให้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมโรคพร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
You must be logged in to post a comment Login