วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นักวิจัย แจง Fake News เกลื่อนเกี่ยวกับพาราควอต

On September 25, 2019

ศาสตราจารย์ รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช และวิทยาศาสตร์เกษตร ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อมูลว่ามีสารทดแทนพาราควอตได้ โดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลคือผู้ผลิต ผู้ขาย ที่เชื่อตามผู้ไม่มีความรู้ด้านเกษตร โดยประสบการณ์แล้ว หากมีสารที่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทุกมิติ เกษตรกรคงเลิกใช้สารพาราควอตไปนานแล้ว จึงอยากให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นหากมีการแนะนำให้ใช้สารอื่น หรือวิธีอื่น แล้วส่งผลเสียหายต่อผลผลิต จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรในยุคที่ราคาผลผลิตตกต่ำ พืชผลเสียหายจากภัยแล้ง และน้ำท่วม ตนยังย้ำว่าปัจจุบัน ยังไม่มีสารชนิดใดที่มีคุณสมบัติทดแทนพาราควอตได้

นักวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรทั่วโลกทราบดีว่า พาราควอต เป็นสารที่ไม่ดูดซึม ใช้ฉีดหญ้าหลังจากหญ้างอกขึ้นมาแล้ว ทำลายเฉพาะส่วนสีเขียวของพืชที่อยู่เหนือดิน ไม่ดูดซึม ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วในการกำจัดหญ้า ระยะปลอดฝนสั้น หมายถึงหากมีฝนตกหลังฉีดพ่นภายในครึ่งชั่วโมงก็ยังมีประสิทธิภาพดี เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ใช้กำจัดวัชพืชก่อนวัชพืชงอก และ 2) ใช้กำจัดวัชพืชเมื่อวัชพืชงอกแล้ว สารกำจัดวัชพืชต่างชนิดกัน ก็มีคุณสมบัติต่างกันไป

697942

ทั้งนี้ พาราควอต มีความปลอดภัยต่อพืชประธาน เนื่องจากไม่ดูดซึม ต่างจากสารชนิดอื่นที่เป็นอันตรายต่อพืชประธาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องกลเพื่อร่วมบริหารจัดการวัชพืชเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นการใช้เครื่องจักรจะทำลายพืชประธานที่ต้องการปลูกได้ ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่เปียกชื้น มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันและแรงงานคน ในไร่มันสำปะหลังหากใช้เครื่องจักรจะไปกระทบกับหัวมันสำปะหลังใต้ดิน รวมทั้งการแนะนำให้เกษตรกรปลูกถั่วเป็นพืชคลุมดินระหว่างแถวอ้อย ก็ต้องคิดด้วยว่า เกษตรกรจะต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ถั่ว ค่าปลูก ค่าไถกลบเท่าไหร่

งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้มีคำแนะนำให้เกษตรกรใช้สารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับสภาพการปลูก และพืชปลูก ในการจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน เป็นทางเลือก ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้สารชนิดใดหรือเครื่องมือใดมาทดแทนสารพาราควอต โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้หรือไม่ใช้สารชนิดใด ดูเรื่องประสิทธิภาพ และราคา เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของเกษตรกร ประเด็นปัญหาความเสี่ยงสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ก็มีมาตรการจำกัดการใช้ที่ภาครัฐกำหนด มีการกำหนดพืช พื้นที่ ให้การอบรมเกษตรกรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน

697943

“ดังนั้น การจะแนะนำให้เกษตรกรใช้อะไร จำเป็นต้องมีการศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเกษตรกรรมและการส่งออกของไทย ขอให้นึกถึงเกษตรกรเป็นลำดับแรก โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยกว่ากัน เน้นย้ำว่าการใช้สารอย่างถูกต้องตามคำแนะนำบนฉลาก จะทำให้เกิดความปลอดภัย การให้ความรู้แก่เกษตรกรจึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการเกษตรทุกด้าน” ศาสตราจารย์ รังสิต กล่าว


You must be logged in to post a comment Login