วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ดูแลหัวใจห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

On September 27, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.สุทัศน์ คันติโต อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 กันยายน – 4 ตุลาคม 2562)

ปัจจุบันหนึ่งในโรคภัยสุขภาพที่น่ากลัวและพบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด ปัจจุบันข้อมูลตัวเลขจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจากสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขที่เปิดเผย ณ วันที่ 16 กันยายน 2561 มีอัตราการตายถึง 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน

โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมของโคเลสเตอรอลและสารต่างๆภายในหลอดเลือด ทำให้เกิดการสร้างคราบไขมัน (Plaque) ที่ไปเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจลดลงเรื่อยๆจนไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดจากอายุที่มากขึ้น ระดับโคเลสเตอรอลสูง ระดับไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ผู้ที่มีความเครียดและขาดการออกกำลังกายก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจที่สามารถพบได้ ได้แก่ รู้สึกเจ็บหน้าอกจนทนไม่ไหว แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ หากผู้ป่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดอย่างถูกต้องทั้งประวัติและอาการที่ปรากฏจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง หรือการวิ่งสายพาน

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 รักษาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เลิกสูบบุหรี่ ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มจัด เพิ่มผักสดและผลไม้ที่ไม่หวานจัด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพประจำปี ระดับที่ 2 รักษาโดยการใช้ยา ในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาที่ช่วยให้การไหลเวียนหรือสูบฉีดเลือดดีขึ้น ซึ่งต้องรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง ระดับที่ 3 รักษาโดยการทำหัตถการ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) หรือใส่ขดลวด (Stent) เข้าไปเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจตีบให้ทำงานได้เป็นปกติ และระดับที่ 4 รักษาโดยการผ่าตัด ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft – CABG)

ดังนั้น โรคหลอดเลือดหัวใจสามารถป้องกันได้จากการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้คือ อายุ พันธุกรรม และเพศ สำหรับผู้ชายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 40 ปี และผู้หญิงที่เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 50 ปี อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ประกอบด้วย การใช้ชีวิต อาหาร การออกกำลังกาย การจำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการงดสูบบุหรี่ รวมถึงเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน ระดับโคเลสเตอรอลและไขมันในเลือด หากรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก็จะสามารถลดความเสี่ยงและห่างไกลจากการเป็นโรคหัวใจ และลดอัตราเสี่ยงที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ รวมทั้งการตรวจสมรรถภาพหัวใจทุกปีก็เป็นหนึ่งในแนวทางการป้องกันได้ เพราะหากรู้เร็วว่ามีความเสี่ยงจะสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที


You must be logged in to post a comment Login