- ปีดับคนดังPosted 5 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
การฝึกขับถ่ายของลูกน้อย
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 กันยายน – 4 ตุลาคม 2562)
นิสัยการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระที่เหมาะสมของลูกจะส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมเหมาะสมตามวัย เด็กที่มีการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ดราด เกิดความอับชื้นของกางเกง อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นอ่อนแอจนเป็นรอยถลอกและติดเชื้อง่าย การกลั้นปัสสาวะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ได้ตามปกติจนมีผลกระทบต่อไต เกิดความเสียหายอย่างถาวร การไม่ถ่ายอุจจาระเป็นประจำจะทำให้อุจจาระแข็ง เจ็บทวารหนักเวลาถ่าย อาจทำให้เกิดแผล ฝี หรือริดสีดวงทวาร ทำให้ท้องอืด ไม่อยากอาหาร จนลูกเจริญเติบโตช้ากว่าที่ควร ถ้าลูกไปโรงเรียนอาจจะมีปัญหาในการดูแลความสะอาดเมื่อเกิดการขับถ่ายเล็ดราด จนกระทบต่อกิจกรรมของลูกและต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน
เมื่อไรลูกจะพร้อมฝึกขับถ่าย
เมื่อลูกเริ่มสามารถเว้นช่วงการถ่ายปัสสาวะได้นานประมาณ 1½-2 ชั่วโมง เริ่มถ่ายอุจจาระเป็นเวลา เข้าใจภาษาพูดง่ายๆ สามารถโต้ตอบโดยท่าทางคำพูด เช่น “อึ” “ฉี่” สามารถนั่งกระโถนและลุกยืนได้เอง เริ่มมีอาการแสดงออกบางอย่างเมื่อจะขับถ่าย แสดงความตื่นเต้นเมื่อเห็นปัสสาวะตัวเองพุ่ง อยากสวมกางเกงแทนผ้าอ้อม แสดงความสนใจเวลาเห็นผู้ใหญ่เข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะ แสดงความดีใจเมื่อได้รับคำชมเชย เหล่านี้เป็นสิ่งบอกถึงความพร้อมของลูก เด็กบางคนอาจเริ่มฝึกขับถ่ายได้ตั้งแต่อายุ 1½ ปี แต่บางคนอาจเริ่มต้นเมื่ออายุ 3 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเด็ก
เตรียมการฝึกลูกน้อย
ตัวลูกน้อย
สอนให้สื่อสาร ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ฉี่” แทนปัสสาวะ และ “อึ” แทนอุจจาระ อาจสอนผ่านทางหนังสือหรือสื่อต่างๆที่มีรูปภาพของการฝึกขับถ่าย รูปกระโถน รูปชักโครก รูปห้องน้ำ ให้ลูกได้เห็นเวลาพ่อแม่ถ่ายปัสสาวะที่โถส้วม
พ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็ก
ทุกคนที่ร่วมดูแลลูกควรพร้อมที่จะให้เวลาในการฝึกอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ทั้งเมื่ออยู่ในบ้านและเมื่อออกนอกบ้าน เข้าใจวิธีการฝึกที่ตรงกัน มีความเข้าใจว่าลูกต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และไม่คาดหวังมากเกินไป
กระโถน
ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกกระโถน ควรเลือกขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ต้องให้ลูกนั่งได้อย่างสบาย ไม่เกร็ง ไม่หนีบขา อาจต้องมีไว้อีก 1 กระโถน ที่เหมือนกันสำหรับสถานที่รับเลี้ยงเด็กถ้าต้องฝากเลี้ยงในระหว่างวัน ไม่เปลี่ยนห้องที่วางกระโถน และให้มีของเล่นและหนังสือที่ลูกชอบในห้องนั้น
กางเกง
ลูกควรมีส่วมร่วมในการเลือกกางเกง โดยพ่อแม่ช่วยเลือกแบบที่ใส่สบาย ไม่รัดรูป ลูกสามารถดึงขึ้นลงได้ง่ายด้วยตนเอง
การใส่ผ้าอ้อมโดยเฉพาะที่ซึมซับได้ดีจะทำให้ลูกไม่รู้สึกเปียกเมื่อมีการขับถ่าย อาจส่งผลเสียให้ลูกไม่ต้องการฝึกการขับถ่าย
การฝึกลูกน้อยขับถ่าย
1.ให้รู้จักบอกเมื่อจะขับถ่าย และให้รู้จักขับถ่ายในที่ที่เหมาะสม สังเกตการแสดงออกของลูกเมื่อจะขับถ่าย เช่น อยู่ๆก็หยุดอยู่กับที่ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด อารมณ์ไม่ดี จับที่ผ้าอ้อมหรืออวัยวะเพศ เป็นต้น เมื่อมีการแสดงออกที่สงสัยว่าจะขับถ่ายให้ถามลูกว่า “ฉี่ไหม” หรือ “อึไหม” เพื่อให้ลูกรู้ว่าเป็นการปวดปัสสาวะหรืออุจจาระ แล้วจึงพาไปที่กระโถนหรือห้องน้ำ เมื่อถูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ไม่ว่าจะถ่ายรดผ้าอ้อม รดกางเกง หรือถ่ายลงในกระโถน ให้ถามลูกว่า “ฉี่เหรอ” หรือ “อึเหรอ” แล้วพาไปเข้าห้องน้ำ ล้างทำความสะอาด และให้ทิ้งสิ่งขับถ่ายลงในโถส้วมให้ลูกได้เห็น
2.ให้คุ้นเคยกับการนั่งกระโถน ให้ลูกลองนั่งกระโถนบ่อยๆ อาจนั่งโดยที่ในช่วงแรกลูกยังอยากจะสวมผ้าอ้อมไว้ หรือถ้าลูกยอมก็ให้นั่งในขณะที่ไม่ได้สวมผ้าอ้อม หากิจกรรมให้ลูกทำระหว่างการนั่งกระโถน เช่น อ่านนิทานให้ฟัง เล่นของเล่น เป็นต้น ให้ชวนลูกนั่งกระโถนทุก 2-3 ชั่วโมง หรือใน ½ ชั่วโมงหลังกินนมหรือน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ และให้ลูกนั่งกระโถนในช่วงเช้าทุกวันหลังตื่นนอนหรือหลังมื้ออาหารเพื่อถ่ายอุจจาระ ให้นั่งไม่นานเกิน 2-3 นาทีในแต่ละรอบ เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกเบื่อ ไม่ควรคาดหวังว่าในช่วงแรกลูกจะถ่ายออกทุกครั้งที่หัดนั่งกระโถน ให้ชมเชยทุกครั้ง หรืออาจให้เป็นสติ๊กเกอร์ติดที่รอบกระโถนเมื่อลูกนั่งที่กระโถน ถึงแม้ว่าลูกไม่ได้ถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระ
เมื่อทำการฝึกไปสักระยะแล้ว ถ้ารู้สึกว่าลูกยังไม่พร้อมให้หยุดการฝึกไปก่อน ให้ลูกกลับมาใช้ผ้าอ้อมและอาจเริ่มต้นฝึกอีกครั้งใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา
เทคนิคช่วยการขับถ่ายของลูกน้อย
1.เมื่อลูกเปลี่ยนจากใช้กระโถนมาขับถ่ายที่โถส้วมให้ใช้ฝารองนั่งชักโครก และหาที่วางเท้าให้ลูกวางได้เต็มฝ่าเท้า ไม่ให้เท้าลอยจากพื้น เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม
2.ฝึกขับถ่ายให้สม่ำเสมอ ให้ลูกน้อยขับถ่ายเป็นเวลา กำหนดเวลาให้ถ่ายปัสสาวะทุก 2-3 ชั่วโมงในระหว่างวัน และให้ถ่ายอุจจาระทุกวันๆละ 1 ครั้ง
3.ไม่ตำหนิหรือหงุดหงิดใส่เมื่อลูกถ่ายรดกางเกง แต่ให้ชมเชยทุกครั้งเมื่อลูกขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง
4.ให้ถ่ายปัสสาวะซ้ำ จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกที่มีปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไหลย้อน หรือกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ดี โดยให้ลูกถ่ายปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง เว้นช่วงประมาณ 1 นาทีหลังการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้ง
5.ดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ ช่วยกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะ และช่วยให้อุจจาระนุ่ม ถ่ายออกง่าย
6.กินอาหารที่มีกากใยให้เพียงพอ ช่วยกระตุ้นให้ปวดอุจจาระ
7.ไม่ดื่มนมมากเกินไป เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลง ทำให้การฝึกขับถ่ายอุจจาระยากขึ้น โดยทั่วไปเด็กอายุ 1-2 ปี ไม่ควรดื่มนมเกิน 32 ออนซ์ต่อวัน
You must be logged in to post a comment Login