- อย่าไปอินPosted 20 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ประกันภัยกลางทะเลทราย
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 4-11 ตุลาคม 2562)
มุฮัมมัดเป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านการค้าตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่ออายุได้ 12 ปี ท่านได้ร่วมเดินทางกับกองคาราวานของลุงไปค้าขายยังเมืองชาม ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ของอาณาจักรโรมันแบแซนติน ในเวลานั้นชามเป็นชุมทางการค้าที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนกองคาราวานสินค้าของชาวอาหรับในเมืองมักก๊ะฮฺจะออกเดินทางไปค้าขายต่างแดนหรือออกไปทำสงคราม ชาวอาหรับเผ่าต่างๆจะมาเคารพบูชาเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าตนที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺ เพื่อวิงวอนขอความคุ้มครอง ความโชคดีมีชัย ขอให้ค้าขายได้กำไรงาม และเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย
ชาวอาหรับยุคอวิชชาเวลานั้นต่างรู้ดีว่าบนเส้นทางการค้ามีอันตรายอยู่ 2 อย่างที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนในกองคาราวานได้ นั่นคือพายุทะเลทรายและโจรสลัด ซึ่งเป็นหายนะภัยที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์หรือป้องกันได้ และเมื่อหายนะเกิดขึ้นแล้วเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่สามารถวิ่งไปช่วยพวกตนได้
เมื่อรู้อยู่แก่ใจเช่นนี้บรรดาเจ้าของกองคาราวานจึงร่วมกันวางมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์กันในหมู่เจ้าของกองคาราวานหากเกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินขึ้นมา
มาตรการดังกล่าวก็คือ ก่อนออกเดินทางพ่อค้าชาวอาหรับได้ตกลงกันวางเงินจำนวนหนึ่งไว้กับผู้ที่ตัวเองเชื่อใจ โดยให้ค่าตอบแทนตามที่ทุกฝ่ายตกลงกัน จำนวนเงินกองกลางที่วางไว้นี้ขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าในแต่ละกองคาราวาน หากกองคาราวานทั้งหมดเดินทางกลับมาโดยปลอดภัย เงินที่เหลือจากการหักค่าตอบแทนผู้ดูแลเงินจะถูกส่งคืนให้เจ้าของเงินและถือเป็นการสิ้นสุดธุรกรรม
แต่ถ้าหากกองคาราวานของพ่อค้าคนใดได้รับความเสียหายจากภัยกลางทะเลทราย พ่อค้าทุกคนที่ร่วมกันจ่ายเงินกองกลางนี้ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะนำเงินกองกลางไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพ่อค้าที่ได้รับความเสียหาย
วิธีการดังกล่าวที่คล้ายกับการประกันภัยนี้เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “ตะกาฟุล” ซึ่งหมายถึงการร่วมมือเพื่อให้ความช่วยเหลือกันในหมู่สมาชิก ศัพท์คำนี้ถูกนำไปใช้ว่าหมายถึงสหกรณ์ด้วยเช่นกัน
นบีมุฮัมมัดเห็นวิธีการเช่นนี้มาตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ และเมื่อท่านได้รับภารกิจการเป็นศาสนทูตของพระเจ้า ท่านยังคงเห็นว่าวิธีการดังกล่าวเป็นเรื่องดี ดังนั้น ตะกาฟุลจึงเป็นที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพออกจากเมืองมักก๊ะฮฺไปยังมะดีนะฮฺ และท่านรู้ดีว่าชาวมักก๊ะฮฺจะนำหายนะภัยมาให้ท่านและสาวกของท่าน และเนื่องจากชาวเมืองได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้นำในขณะที่ยังไม่มีรัฐบาล นบีมุฮัมมัดจึงนำเอาวิธีการตะกาฟุลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สังคมที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่านมีหลักประกันว่าจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อประสบเคราะห์กรรม
เนื่องจากเมืองมะดีนะฮฺเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยชนเผ่าชาวยิว ชนเผ่าชาวอาหรับที่เคารพกราบไหว้รูปปั้น และชาวอาหรับมุสลิมที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว แต่ทุกกลุ่มเป็นชาวเมืองมะดีนะฮฺร่วมกันและมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน
ดังนั้น นบีมุฮัมมัดจึงเรียกผู้นำกลุ่มชนในเมืองมะดีนะฮฺมาตกลงกันว่าจะร่วมกันปกป้องเมืองมะดีนะฮฺหากมีศัตรูมารุกราน ทุกคนจะฟังคำสั่งของนบีมุฮัมมัด และหากชาวยิวมีกรณีพิพาทกันเองในหมู่ชาวยิว นบีมุฮัมมัดจะตัดสินตามคัมภีร์ที่ชาวยิวนับถือ
นอกจากนี้แล้วนบีมุฮัมมัดยังได้ให้ทุกกลุ่มตกลงกันว่าหากสมาชิกคนใดในกลุ่มของตัวเองถูกจับเป็นเชลยหรือได้รับบาดเจ็บ สมาชิกในกลุ่มของตนจะต้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือกันเองในเรื่องการนำเงินไปไถ่ตัวสมาชิกของตนที่ถูกจับตัวไป หรือช่วยเหลือกันหากได้รับบาดเจ็บ และช่วยเหลือครอบครัวของสมาชิกในกลุ่มของตนที่เสียชีวิตในการรบ
วิธีการตะกาฟุลดังกล่าวเป็นที่ปฏิบัติกันมาในโลกมุสลิมนับเป็นพันปีก่อนที่ชาติตะวันตกจะนำระบบประกันสมัยใหม่มาใช้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
You must be logged in to post a comment Login