วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การแต่งงานของชาวอาหรับก่อนอิสลาม

On October 11, 2019

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 11-18 ตุลาคม 2562)

การแต่งงานเป็นพิธีที่มนุษย์ปฏิบัติเมื่อจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัวมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะสามัญสำนึกของมนุษย์เองบอกว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ เมื่อจะใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน มนุษย์ต้องมีพิธีแต่งงานเพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงตอบสนองความสำนึกของมนุษย์ด้วยการให้มนุษย์มีพิธีแต่งงานเพื่อเป็นเกียรติแก่มนุษย์เอง

ถึงแม้สังคมและยุคสมัยจะต่างกัน แต่พิธีการแต่งงานจะมีลักษณะที่คล้ายๆกัน เช่น การสู่ขอ การทำพิธีแต่งงานกันอย่างเปิดเผยโดยญาติของทั้งสองต่างพอใจและสังคมรับรู้ เป็นต้น ศาสนาเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ก่อนที่รัฐจะมีการจดทะเบียนสมรส

ในสังคมอาหรับก่อนหน้าอิสลามการแต่งงานมีหลายรูปแบบ แบบแรกคือการแต่งงานโดยข้อตกลง การแต่งงานแบบนี้เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ชายกับครอบครัวของผู้หญิงที่จะเป็นภรรยาในอนาคตของตน การแต่งงานแบบนี้จะทำภายในเผ่าหรือระหว่างครอบครัวของอีกเผ่าหนึ่งก็ได้

ผู้หญิงบางคนถูกห้ามแต่งงานกับคนนอกเผ่า และต้องแต่งงานกับสมาชิกของเผ่าหรือคนแปลกหน้าที่ตกลงว่าจะอยู่กับเผ่าของตน

สำหรับการแต่งงานของชายและหญิงที่อยู่กันคนละเผ่า เมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงจะออกจากครอบครัวของตัวเองไปอยู่กับสามีอย่างถาวร ลูกที่ออกมาถือว่าเป็นสมาชิกในเผ่าของพ่อ เว้นเสียแต่จะมีการตกลงกันก่อนว่าถ้ามีลูกจะต้องส่งลูกให้เผ่าของแม่

marriage of beduin

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องการคุ้มครองและทรัพย์สินของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างเผ่า ผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายเผ่าอื่นมีเสรีภาพมากกว่าและมีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกหรือหย่าสามีของตนเมื่อใดก็ได้โดยการกระทำเชิงสัญลักษณ์ เช่น ถ้าทั้งสองคนอาศัยอยู่ในกระโจมที่มีทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ผู้หญิงจะย้ายทางเข้าให้ไปอยู่ทางทิศตะวันตกเพื่อบอกสามีว่าเธอไม่ต้องการเขาอีกต่อไปแล้ว

การแต่งงานอีกแบบหนึ่งคือการแต่งงานที่พ่อของเจ้าบ่าวจ่ายเงินสินสอด (ในภาษาอาหรับเรียกว่า “มะฮัรฺ”) ให้แก่พ่อของเจ้าสาวตามจำนวนที่กำหนดไว้เพื่อแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วเงินสินสอดนี้ตกเป็นของพ่อ และลูกสาวเป็นของเจ้าบ่าว

การแต่งงานอีกแบบหนึ่งเป็นการแต่งงานที่เกิดขึ้นโดยการตกเป็นเชลย ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปของชาวอาหรับก่อนหน้าสมัยอิสลาม การแต่งงานเช่นนี้มักเกิดขึ้นในระหว่างการทำสงคราม กล่าวคือ เมื่อผู้ชายจับผู้หญิงจากเผ่าคู่อริได้ ผู้หญิงจะถูกนำไปขายที่ตลาดค้าทาสในมักก๊ะฮฺ

จากตลาดค้าทาสนี้ผู้หญิงที่ตกเป็นเชลยจะถูกขายไปเพื่อการแต่งงานหรือไปเป็นทาส ในการแต่งงานกับผู้หญิงที่ตกเป็นเชลยนี้ ผู้ชายจะซื้อผู้หญิงไปเป็นภรรยาของตน ดังนั้น ผู้ชายที่เป็นสามีจะมีสิทธิ์ในการควบคุมภรรยาของตนโดยสมบูรณ์ไม่ต่างจากการซื้อสินค้ามาเป็นของตน ผู้หญิงที่ตกเป็นภรรยาในลักษณะเช่นนี้ไม่มีสิทธิ์ในการหย่าสามี ไม่มีเสรีภาพ มีแต่ต้องทำตามคำสั่งของสามีและทำหน้าที่ผลิตลูกให้สามี

การแต่งงานอีกแบบหนึ่งเป็นการแต่งงานโดยทางมรดก ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันแพร่หลายในแผ่นดินอาหรับทั้งในมักก๊ะฮฺและมะดีนะฮฺ การแต่งงานประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อชายคนหนึ่งตาย ทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งรวมทั้งภรรยาจะตกเป็นมรดกของลูกชาย (ยกเว้นหญิงที่เป็นแม่ของเขา) ในกรณีเช่นนี้ลูกชายผู้รับมรดกมีทางเลือกหลายทาง เช่น เขาจะเก็บผู้หญิงเหล่านั้นไว้เป็นภรรยาของตัวเอง หรือให้ผู้หญิงออกไปจากบ้าน หรือให้ผู้หญิงแต่งงานกับคนอื่นเพื่อที่ตัวเองจะได้รับเงินค่าสินสอดก็ได้ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม ผู้หญิงที่ตกเป็นภรรยาในลักษณะนี้ไม่มีสิทธิ์ใดๆนอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับเธอเป็นมรดก

นอกจากนี้แล้วยังมีการแต่งงานอีกแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า “การแต่งงานชั่วคราว” (มุตอ๊ะฮฺ) โดยชายโสดและหญิงโสดตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยาในเวลาที่ตกลงกันไว้ เมื่อครบระยะเวลาสัญญาแต่งงานเป็นอันสิ้นสุด ถ้าทั้งสองมีลูกด้วยกันในช่วงเวลาแต่งงาน ลูกจะเป็นของพ่อและรับมรดกจากพ่อ

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสภาพของสังคมอาหรับก่อนนบีมุฮัมมัดจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระเจ้า


You must be logged in to post a comment Login