วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยกเลิกพาราควอต-สารเคมีเกษตร เกษตรกรต้นแบบแนะทางออกไร้ข้อขัดแย้ง

On October 15, 2019

นายเชิดชัย จิณะแสน เกษตรกรต้นแบบ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายว่า สารเคมีทั้งสามชนิด ใช้ในประเทศไทยมาประมาณ 50 ปีที่แล้ว โดยไม่เสียภาษีนำเข้า เพราะต้องการลดราคาต้นทุนช่วยเหลือเกษตรกร และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการเกษตรระดับต้นของโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ดั้งนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้เป็นปัจจัยการผลิตและลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร

สภาพภูมิอากาศของไทย ง่ายต่อการเกิดโรค แมลง และวัชพืช ประกอบกับระบบชลประทานไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน เดิมเกษตรกรต้องเผาหญ้าหรือวัชพืชก่อนทำเกษตร และใช้สารเคมีเกษตรเพื่อควบคุมวัชพืชนอกเขตพื้นที่ชลประทาน และเมื่อทางการสั่งงดการเผา เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และหากห้ามเผาหญ้าและห้ามใช้สารเคมี เกษตรกรจะทำเช่นไร

ดังนั้น นายเชิดชัย จิณะแสน จึงเสนอแนะทางออกเพื่อลดความขัดแย้งของ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการให้แบน และกลุ่มที่ต้องการให้ใช้ให้ใช้มาตรการการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามประกาศฯ ของกระทรวงเกษตรฯ จะมีผลบังคับใช้ 20ตุลาคมนี้ ซึ่งเนื้อหาครอบคลุมทุกประเด็นไว้อย่างดี

เมื่อมีสารเคมีชนิดใหม่ที่มีขีดความสามารถ ทั้งคุณสมบัติ, ราคา, ความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพเท่าเทียมหรือดีกว่าสารตัวเดิม  จึงค่อยยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดให้โอกาสเกษตรกรปรับตัว เพื่อลดความขัดแย้ง หน่วยงานราชการต้องรับรองวิธีการทดแทน ไม่กระทบเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม

เกษตรกรต้องต่อสู้กับโรคระบาด ภัยแล้ง, น้ำท่วม และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  หากยกเลิกใช้โดยไม่มีสิ่งทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากให้แก่เกษตรกร สร้างความเสียหายต่อการผลิตสินค้าเกษตร กระทบการส่งออก และทำให้ GDP ภาคการเกษตรและภาพรวมของสินค้าทั่วประเทศลดลง

การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ดีที่สุด รัฐบาลควรส่งเสริมให้มากที่สุด เช่นให้ โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงแรมร้านอาหารภัตตาคารและหน่วยงานต่าง ๆ ช่วยรับซื้อสินค้าอินทรีย์ ประกันรายได้ มีการอุดหนุนเงินหรือปัจจัยอื่นให้เกษตรกรผู้ทำอินทรีย์ แต่เกษตรกรไทยไม่สามารถทำอินทรีย์ทั้งประเทศได้ ควรให้โอกาสตามขีดความสามารถ และตามพื้นที่ชนิดของสินค้าเกษตรที่จำเป็นต้องใช้เคมีหรือระบบ GAP

กิตติ-2

นอกจากนี้ นายกิตติ จันทวิสูตร เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี กล่าวว่า “ถ้าจะเลือกแบน ควรแบน คลอร์ไพริฟอส ที่เป็นสารจำกัดแมลง เกษตรกรรับได้ เพราะมีสารตัวอื่นทดแทนมากมาย แต่ถ้ามีการแบน พาราควอตและไกลโฟเซต เกษตรกรจะเดือดร้อนอย่างมาก เพราะไม่มีสารใดมาทดแทนช่วยในการกำจัดวัชพืชได้ดี แม้ว่าจะมีสารกลูโฟซิเนต แต่ก็มีราคาแพงกว่ามากและประสิทธิภาพสู้สารทั้งสองตัวไม่ได้ อีกทั้ง สารกำจัดวัชพืชทั้ง 2 สาร ถ้าอันตรายจริงตามการปั่นกระแสของเอ็นจีโอ เกษตรกรคงตายกันไปก่อนหน้า เพราะสารทั้ง 2 เกษตรกรใช้กันมาร่วม 40-50 ปีแล้ว วิธีการที่เหมาะสมที่สุด คือ มาตราการควบคุมการใช้ตามมติก่อนหน้านั้นในฤดูกาลหนึ่ง ๆ เฉพาะจังหวัดจันทบุรี มีการส่งผลไม้ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ รวมกันไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท”

“อาวุธปืนเป็นสิ่งที่ใช้ฆ่ากันได้ ในแต่ละปีมีคนตายจากอาวุธปืนจำนวนมาก แต่รัฐก็ไม่ได้แบนอาวุธปืน ยังอนุญาติให้พลเมืองสามารถครอบครองอาวุธปืน และพกพาได้ โดยการขออนุญาตจากรัฐ เหล้า บุหรี่ เป็นสารเสพติด มีคนตายแต่ละปีจากสิ่งนี้จำนวนมาก แต่รัฐก็เพียงควบคุมการดื่มและสูบ ไม่ได้แบน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ดื่มมากก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐก็ปล่อยให้จำหน่ายได้อย่างเสรี”

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องคิดอย่างรอบครอบการจะดำเนินการนโยบายใด จะต้องไม่ทำให้คนอีกกลุ่มเดือดร้อน ถ้ามีการแบนสารกำจัดวัชพืช 2 สาร กลุ่มคนที่เดือดร้อนมากจะเป็นเกษตรกร อย่าลืมนะครับเกษตรกรต่างก็มี 1 เสียงเท่ากับพวกเอ็นจีโอ ท่านจะแน่ใจได้อย่างไร ถ้าท่านเลือกข้างเอ็นจีโอแล้ว เขาจะเลือกท่าน ท่านได้สังเกตไหมว่า วันนี้ ฝั่งที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลเงียบสนิทมากในเรื่อง 3 สาร กลุ่มเอ็นจีโอกับพรรคภูมิใจไทยมีอะไรแอบแฝงไหม

“ผมทำเกษตรอินทรีย์มา 18 ปี ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลในการพยายามให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การลดสารเคมี แต่ไม่ควรนำประเด็นที่ว่าให้ประเทศไทยเป็นอินทรีย์ทั้งหมด โดยจะต้องยกเลิกสารเคมีทางการเกษตร ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ต้องการควบคู่ไปกับการทำเกษตรเคมี และเกษตรปลอดภัย หรือ GAP” นายเชิดชัย กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login