- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 3 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 1 day ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 4 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 5 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 6 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
ผู้ร้ายหน้าหล่อ
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 18-25 ตุลาคม 2562)
ดาราหนุ่มหน้าตาคมคายเป็นขวัญใจของสาวๆ ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เขาเล่นทำรายได้มหาศาล เขามีค่าตัวแพงติดอันดับต้นๆของดาราฮอลลีวู้ด แต่ตลอดชีวิตการแสดงเขาได้รับแต่บทผู้ร้ายเพียงเพราะว่าเขาเป็นคนเอเชีย
ฮายากาวา คินทาโร เกิดเมื่อปี 1889 เป็นบุตรชายของผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในวัยเด็กเขาใฝ่ฝันว่าจะได้รับใช้ชาติในกองทัพราชนาวีของพระจักรพรรดิ เขาตั้งใจฝึกฝนวิถีทางบูชิโด เชี่ยวชาญศิลปะป้องกันตัว มีความสุขุมนุ่มลึกแบบเซน และเข้ารับการศึกษาทางการทหารจากสถาบันนาวี
ปี 1907 ฮายากาวาอายุได้ 17 ปี พร้อมที่จะสอบเข้าเป็นทหารเรือ หนึ่งในการทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายคือการดำน้ำลงสู่พื้นทะเลสาบน้ำเค็ม แม้ฮายากาวาจะทำได้สำเร็จ แต่เขาต้องได้รับบาดเจ็บจากแรงอัดของน้ำทำให้แก้วหูทะลุ เป็นเหตุให้เขาไม่ผ่านการทดสอบ
ความล้มเหลวนี้ทำให้บิดาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการสร้างความอับอายให้กับวงศ์ตระกูล ทำให้ฮายากาวาเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ตัดสินใจกอบกู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลตามวิถีทางของซามูไรด้วยการทำพิธีเซ็ปปุกุ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในชื่อฮาราคีรี หรือการคว้านท้องตัวเอง
ฮายากาวาเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีเซ็ปปุกุในสวนหลังบ้าน แต่ที่บ้านเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง ฮายากาวาเกรงว่าสุนัขจะมารบกวนระหว่างการทำพิธี เขาจึงเข้าไปทำพิธีเซ็ปปุกุในกระท่อมในสวนแล้วล็อกประตูเอาไว้ สุนัขตะกายประตูกระท่อมและเห่าหอนเสียงดัง ทำให้บิดาเดินมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อมองไปที่กระท่อมเห็นฮายากาวานอนจมกองเลือด บิดาก็ใช้ขวานจามประตูจนพังก่อนจะเข้าไปช่วยนำตัวส่งโรงพยาบาล ฮายากาวารอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ ระหว่างที่พักฟื้นรักษาตัวเขาและบิดาตกผลึกความคิดตรงกันว่านอกจากการเป็นทหารแล้วยังมีหนทางอื่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต นั่นคือการเป็นนักปกครองแบบพ่อหรือไม่ก็เป็นนักธุรกิจ หลังจากที่หายดีเป็นปกติ ฮายากาวาจึงถูกส่งตัวไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ประเทศอเมริกา
เข้าตาแมวมอง
ฮายากาวาเข้าร่วมทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยในตำแหน่งควอเตอร์แบ็ก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของทีมอเมริกันฟุตบอล เขาอาศัยความสามารถด้านศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า ทำให้นักกีฬาฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถประชิดตัวเขาได้ บางครั้งก็เลยเถิดไปถึงขั้นใช้วิชายูโดคว่ำคู่ต่อสู้ที่ตัวใหญ่กว่า ทำให้ฮายากาวาถูกกรรมการสั่งห้ามใช้วิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่าในสนามฟุตบอล
ปี 1913 ฮายากาวาเดินทางไปพักผ่อนที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย และนึกสนุกไปร่วมแสดงละครที่โรงละครลิตเติลโตเกียว โดยใช้ชื่อการแสดงว่า เซซซู ฮายากาวา และประสบความสำเร็จอย่างมากในการแสดงละครเรื่อง The Typhoon ซึ่งโทมัส อินซ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดัง ได้ชมการแสดงนั้นด้วย
โทมัสชอบบทละครเรื่องนี้และต้องการให้เรื่องราวโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ แน่นอนว่าดารานำแสดงจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากเซซซู แต่อาชีพนักแสดงไม่ใช่สิ่งที่ฮายากาวาได้ทำข้อตกลงกับบิดาเอาไว้ก่อนจะเดินทางมาอเมริกา เขารับเล่นละครขำๆ ฆ่าเวลาเฉยๆ
เพื่อเป็นการตอบปฏิเสธแบบสุภาพ ฮายากาวาแกล้งบอกโทมัสว่าเขายินดีแสดงภาพยนตร์ให้หากโทมัสยอมจ่ายค่าตัว 500 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ตลอดระยะเวลาการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก เทียบกับค่าเงินปัจจุบันประมาณ 11,000 ดอลลาร์ หรือสามารถซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงได้ 1 คัน
ฮายากาวาเป็นคนต่างชาติ เป็นดาราไร้ชื่อ ไร้สังกัด คงไม่มีใครยอมจ่ายค่าตัวให้สูงขนาดนั้น แต่เขาคิดผิดถนัด โทมัสตอบตกลงทันที ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ผู้ชมชื่นชมการแสดงแบบสุขุม สงบเสงี่ยม ซึ่งแตกต่างจากภาพยนตร์เงียบในสมัยนั้นที่นักแสดงส่วนใหญ่แสดงบทบาทเกินจริงเพื่อให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ของตัวแสดง เนื่องจากไม่มีเสียงพูด
แสดงเก่งเกินไป
ความสำเร็จของภาพยนตร์ The Typhoon ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์หลายรายติดต่อมายังฮายากาวา ชั่วเวลาเพียงแค่ปีเดียวฮายากาวาก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วอเมริกา ปี 1915 ฮายากาวาได้รับบทเป็นพ่อค้างาช้างตัวโกงในภาพยนตร์เรื่อง The Cheat ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากอีกเช่นกัน
แต่ความสำเร็จนี้ย้อนกลับมาทำร้ายฮายากาวา เนื่องจากคนญี่ปุ่นในอเมริกาไม่พอใจที่ฮายากาวาทำให้คนอเมริกันมองชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ร้าย ส่งผลให้การรีเมคภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 1918 ผู้กำกับฯต้องเปลี่ยนบทพ่อค้างาช้างจากคนญี่ปุ่นเป็นคนพม่า เนื่องจากมีคนพม่าอาศัยอยู่ในอเมริกาน้อยมาก คงไม่มีการประท้วงอีก
เมื่อถึงปี 1917 ฮายากาวาทำรายได้จากการแสดงภาพยนตร์ราว 250,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือเทียบกับค่าเงินปัจจุบันประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ เขามีเงินมากเหลือล้นจนตัดสินใจใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่ายด้วยการสร้างคฤหาสน์หรู ซื้อรถยนต์คันโก้ยี่ห้อ Pierce Arrow
ฮายากาวาเอาเงินไปถลุงในบ่อนการพนันมอนติคาร์โล ปี 1926 ฮายากาวาเสียเงินในคืนเดียวมากถึง 965,000 ดอลลาร์ หรือค่าเงินปัจจุบันประมาณ 14 ล้านดอลลาร์ บังเอิญที่คืนเดียวกันนี้มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นอีกคนเสียการพนันหมดเนื้อหมดตัวจนถึงกับฆ่าตัวตาย ทำให้สื่อบางสำนักสำคัญผิดคิดว่าเป็นฮายากาวา
เป็นได้แค่ตัวร้าย
สื่อยุคนั้นรายงานว่า ทุกครั้งที่ฮายากาวาปรากฏบนจอภาพยนตร์จะได้ยินเสียงหญิงสาวกรีดร้องอย่างชื่นชม แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาสาวๆ แต่กระแสสังคมในสมัยนั้นต่อต้านความสัมพันธ์ของหญิงผิวขาวกับชายเอเชีย บางรัฐถึงกับออกกฎหมายห้ามสมรสข้ามเผ่าพันธุ์ ทำให้นักแสดงต่างชาติไม่ได้รับบทพระเอกเพื่อป้องกันการถูกต่อต้านจากสังคม
ปี 1918 สัญญาผูกมัดกับบริษัทพาราเมาท์สิ้นสุดลง ฮายากาวาตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เพราะรู้ดีว่าเขาไม่มีทางได้แสดงบทพระเอก ฮายากาวาเปิดบริษัทผลิตภาพยนตร์ของตัวเองชื่อ ฮาเวิร์ธ พิกเจอร์ เพื่อให้เขามีโอกาสสวมบทบาทคนดีในภาพยนตร์บ้าง
แต่ยุคทองของฮายากาวามีเพียงไม่นาน เมื่อถึงทศวรรษ 1930 กระแสต่อต้านชาวญี่ปุ่นรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม อังกฤษสำเนียงญี่ปุ่นไม่เป็นที่นิยม หากมีบทของคนต่างชาติในภาพยนตร์ ผู้สร้างจะเลี่ยงไปใช้ชาวเม็กซิกันหรือคนอินเดียนแดงแทน
ฮายากาวาสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เขาตัดสินใจบากหน้าไปฝั่งยุโรป ซึ่งเปิดกว้างให้กับคนต่างชาติมากกว่าในอเมริกา เป็นจังหวะเดียวกับที่เยอรมันเคลื่อนทัพในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ฮายากาวาติดอยู่ในฝรั่งเศส
คืนสู่จอเงิน
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวญี่ปุ่นถูกนานาชาติรังเกียจเดียดฉันท์ ฮายากาวาตกที่นั่งลำบากไม่มีใครว่าจ้าง โชคดีที่ฮัมฟรีย์ โบการ์ต กำลังจะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Joe และต้องการให้ฮายากาวาเล่นบทบารอน คิมูระ เขาส่งคนไปตามตัวฮายากาวาถึงฝรั่งเศส
ฮายากาวาถูกเจ้าหน้าที่อเมริกันสอบสวนอย่างหนัก พบว่าเขาไม่ได้มีส่วนสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่นหรือเยอรมัน อีกทั้งยังช่วยงานกองทัพฝรั่งเศสต่อต้านเยอรมัน แต่รายละเอียดไม่ได้บอกว่าด้วยวิธีใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกายอมให้ฮายากาวาเดินทางกลับเข้าประเทศได้
ฮายากาวาคืนสู่วงการฮอลลีวู้ดอีกครั้ง เขาแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง The Bridge on the River Kwai ผลปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลใน 7 สาขา นอกจากสาขานักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยมเพียงรางวัลเดียวที่ไม่ได้
ฮายากาวาอำลาวงการในปี 1966 และเดินทางกลับญี่ปุ่น บวชเป็นพระนิกายเซน และเสียชีวิตในปี 1973 จากสาเหตุโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ฮายากาวาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ประสบความสำเร็จในฮอลลีวู้ด แต่เขาไม่เป็นที่ชื่นชอบเท่าไรนักในญี่ปุ่น
1.ฮายากาวา คินทาโร
2.The Typhoon
3.The Cheat
4.โปสเตอร์ของบริษัทฮาเวิร์ธ พิกเจอร์
5.เซซซู ฮายากาวา และฮัมฟรีย์ โบการ์ต
6.ฮายากาวาในบทบารอน คิมูระ
7. he Bridge on the River Kwai
You must be logged in to post a comment Login