วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“บ้านและห้องชุดที่มีผู้เสียชีวิต” ราคาตกมากไหม

On October 22, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 25 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2562)

นอกจากข่าว “ลัลลาเบล” แล้ว ยังมีข่าวรายอื่นๆที่ฆ่าตัวตายในบ้านและห้องชุดต่างกรรมต่างวาระกัน การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่น่าสงสาร คนที่หาทางออก หาคนให้คำปรึกษาไม่ได้ ก็มักจะคิดสั้น ในแง่หนึ่งการฆ่าตัวตายเป็นบาปอย่างหนึ่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็น่าเห็นใจ และควรให้กำลังใจให้พวกเขามีชีวิตต่อไป เพราะการฆ่าตัวตายเป็นการทำลายทรัพยากรสำคัญของโลก

อย่างในกรณีข่าวคอนโดฯที่ “ลัลลาเบล” ตาย เริ่มมีคนย้ายออก แล้วห้องชุดในคอนโดฯที่เหม-ภูมิภาฑิต นิตยารส ผูกคอตาย จะมีใครกล้าไปอยู่หรือไม่ คอนโดฯแบบนี้ผีสิงไหม ราคาจะตกไหม แต่นั่นก็เป็นแค่ข่าว ความจริงจะเป็นอย่างไรต่อไปเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา

กรณี “ลัลลาเบล” ศพของเธอถูกพบในอาคารชุดแห่งหนึ่ง โดยศพถูกพาออกมาจากห้องชุดมาไว้ที่โซฟาที่โถงของอาคารชุดนั้น ปรากฏว่าทางนิติบุคคลอาคารชุดได้เคลื่อนย้ายโซฟาไปไว้ที่จอดรถชั้น 4 และต่อมามีข่าวว่า “ลูกบ้านหลอนใช้ลิฟต์จ่อย้ายออก นิติบุคคลปัดขายโซฟา “ลัลลาเบล” นอนตาย” (https://bit.ly/2n7iggl) โดยมีผู้เช่ารายหนึ่งขนของย้ายออกจากอาคารชุดดังกล่าวเนื่องจากไม่สบายใจที่ต้องผ่านทางเดินที่ลัลลาเบลถูกลากไปมา กรณีนี้จะชี้ได้หรือไม่ว่าห้องชุดในอาคารชุดนี้จะราคาตก

อีกข่าวหนึ่งปรากฏว่า “สุดช็อก เหม ดาราช่อง 7 ตัดสินใจผูกคอลาโลกหลังระเบียงคอนโด” (https://bit.ly/2l9VBPB) ซึ่งมีเนื้อหาว่า “นักแสดงหนุ่ม เหม-ภูมิภาฑิต นิตยารส ได้ตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในห้องพัก โดยผู้สื่อข่าวได้รายงานว่า ที่ซอยลาดปลาเค้า 58 รับแจ้งเหตุชายผูกคอตายในที่พักแห่งหนึ่ง ต่อมาพบว่าคือ นายภูมิภาฑิต นิตยารส หรือเหม ดาราและนักแสดงช่อง 7 โดยผูกคอบริเวณระเบียงห้อง” แล้วอย่างนี้ราคาห้องชุดนี้จะตกต่ำลงหรือไม่

ผู้เขียนในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีกรณีศึกษาห้องชุดหรือบ้านแบบนี้หลายรายการ ให้ความเห็นว่า กรณีนี้คงเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว อย่างในอาคารชุดที่ลัลลาเบลเสียชีวิตนั้น ผู้ที่ย้ายออกก็คือผู้เช่ารายหนึ่ง แต่เจ้าของคงไม่ย้ายออก เพราะลงทุนซื้อไว้แล้ว บ้างก็ยังผ่อนไม่หมด เมื่อเวลาผ่านไปก็คงเข้าสู่ภาวะปกติ

กรณีศึกษาอีกอันหนึ่งก็จากประสบการณ์ของนักวิจัยหนุ่มของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเอง ปรากฏว่าผู้อยู่อาศัยในห้องชุดข้างๆกระโดดตึกเสียชีวิต นักวิจัยหนุ่มไม่กล้าเข้าไปอยู่ในห้องของตนเองไปหลายวัน คงกลัวผีห้องข้างๆที่สมองและร่างกายได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจจำห้องผิดล่องลอยจากพื้นชั้นล่างขึ้นมาผิดห้อง! อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเหตุการณ์ก็เข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ก็มีห้องชุดบางห้องในบางอาคารชุดที่มีผู้เสียชีวิตอย่างอนาถ เช่น ถูกฆาตกรรมภายในห้อง หรือฆ่าตัวตายด้วยเหตุสลดใดๆก็ตาม ปรากฏว่าห้องเหล่านั้นถูกปิดตายไปนานแล้วก็มีเช่นกัน กรณีเช่นนี้มักเป็นบ้านหรือห้องชุดที่มีเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยรายเดียวหรือครอบครัวเดียวใช้สอยและเข้าออก จึงอาจเกิดอาการ “หลอน” หรือรู้สึกไม่ดี กลายเป็นตำหนิ (Stigma) ที่บางคนไม่ชอบเสี่ยงที่จะอยู่อาศัย

แต่ถ้าเป็นในกรณีโรงแรม อาคารสำนักงาน หรืออาคารสาธารณะทั่วไป มักไม่ค่อยมีปัญหา เช่น มีโรงแรมหนึ่งแถวพัทยา ปรากฏว่าไฟไหม้ ควันไฟทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ  อาคารโรงแรมนั้นปิดตัวไปเกือบ 10 ปี แต่โดยที่โครงสร้างยังแข็งแรงอยู่ ต่อมาก็ได้เปิดใช้ใหม่แล้ว (https://bit.ly/2r3HcUH) ไม่ปรากฏว่าจะมีข่าว “ผีลากผู้เข้าพักตกเตียง” หรือเรื่องเฮี้ยนใดๆออกมาเป็นข่าวเลย ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์ (แบบเล่นๆ) ก็อาจเป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวเข้าออกห้องพักไม่ซ้ำหน้า “ผี” คงจำไม่ได้ เลยไม่ได้หลอก แต่ในกรณีห้องชุดที่มีผู้ตายอย่างอนาถ ถ้าผู้อยู่อาศัยคนเดิมๆเข้าออกบ่อยๆ “ผี” อาจมีพัฒนาการทางสมองจำคนอยู่อาศัยได้!

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางแห่งที่ยังไม่ได้ใช้ที่ดินนั้นใหม่ เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ที่เอกมัย กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เสียชีวิต 61 ศพ หรือเหตุการณ์รถแก๊สแอลพีจีประสบอุบัติเหตุระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2533 โดยมีผู้เสียชีวิต 80 ศพ (https://bit.ly/2l98h9q) บางบริเวณยังไม่ได้นำไปใช้ เชื่อว่าสาเหตุหลักไม่ใช่เพราะ “ผีสิง” แต่เพราะยังเคลียร์ภาระผูกพันกับที่ดินไม่สำเร็จ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศไทยไม่มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีประสิทธิภาพ เจ้าของที่ดินก็เก็บที่ดินไว้โดย (แทบ) ไม่ต้องเสียภาษีใดๆมา “ลนก้น” ต่างหาก

บ้านที่มีตำหนิแบบนี้อาจมีอุปสงค์จำนวนจำกัด ปกติบ้านหรือห้องชุดทั่วไปอาจมีคนซื้อภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับแต่ประกาศขาย แต่บ้านแบบนี้อาจต้องใช้เวลาขายถึง 24 เดือนจึงจะพบคนซื้อที่ไม่กลัวผี ไม่ถือสาเรื่องแบบนี้ ดังนั้น กว่าจะมีคนซื้อก็ต้องทอดเวลาผ่านไปถึง 18 เดือน หากราคาขายได้พอๆกับคนอื่น เช่น สมมุติที่ 1,000,000 บาท แต่การรับรู้มูลค่าช้ากว่าถึง 18 เดือน มูลค่าก็จะลดลง โดยหากสมมุติว่าเดือนหนึ่งมีดอกเบี้ยประมาณ 1% มูลค่าของห้องชุด “ผีสิง” ก็จะเป็นเงิน 836,017 บาท หรือลดลงไปราว 163,983 บาท โดยใช้สูตรดังนี้

= 1/(1+ดอกเบี้ย)^ระยะเวลา * ราคาขาย

= 1/(1+1%)^18 * 1,000,000 บาท

= 836,017 บาท

เราต้องคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่าได้กลัวผีไปไย อย่าคิดมาก ใครพาผีมาให้ ดร.โสภณดูได้ ดร.โสภณยินดีให้ 100,000 บาท (https://goo.gl/DJyqtg)

เราต้องยืนหยัดในความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์


You must be logged in to post a comment Login