วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สวยใสไม่ไร้สติ…แสงแดดกับการดูแลรักษาผิว

On October 25, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ ฝ่ายเภสัชกรรม

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  25 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2562)

ผู้หญิงทุกคนย่อมปรารถนาที่จะมีผิวสวย ฤดูกาลที่เปลี่ยนไปมีผลทำให้ผิวเราถูกทำลาย ช่วงหน้าหนาวหรือหน้าร้อนจึงควรทาผิวด้วยครีมหรือโลชั่นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดในช่วง 09.00-15.00 น. เพราะแสงแดดจะทำลายผิวได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่รังสียูวีจะตกมาถึงโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้โดนแสงแดดเลยนะคะ เพราะการสัมผัสแสงแดดอ่อนๆเพียงวันละ 15 นาทีตอนเช้า ไม่มีผลต่อการทำลายสุขภาพผิวมากนัก แต่กลับจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี

ส่วนประกอบของรังสีที่แผ่กระจายจากดวงอาทิตย์มีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น

1.แสงอินฟราเรด (Infrared light)

2.แสงที่มองเห็นได้ (Visible light)

3.แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet light) เจ้าตัวนี้มีผลต่อผิวสวยๆของเรามากที่สุด แบ่งตามช่วงความยาวคลื่นได้ 3 ช่วงคือ

– ยูวีเอ (UVA) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร ทำให้เกิดผิวคล้ำแดด เพราะแสงจะกระตุ้นการสร้างเมลานิน แต่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบ

– ยูวีบี (UVB) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร ทำให้เกิดผิวเกรียมแดดและผิวหนังอักเสบ ผิวแก่ก่อนวัย และเกิดมะเร็งผิวหนัง

– ยูวีซี (UVC) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 180-290 นาโมเมตร โดยมากจะถูกดูดซับโดยก๊าซโอโซนในบรรยากาศ ไม่ตกลงมาถึงโลก (ดังนั้น แสงอัลตราไวโอเลตที่มาถึงโลกจะอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 290-400 นาโมเมตร ซึ่งก็คือ UVA และ UVB)

ครีมกันแดด อาวุธคู่ผิวสวย

Sunscreen หรือผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด เข้ามามีบทบาทในการดูแลผิวพรรณของพวกเราเป็นอย่างมาก เพราะผิวหนังที่ปราศจากสิ่งปกปิดเมื่อถูกแสงแดดเป็นเวลานานจะเกิดการบวมแดงพองและลอกออกในที่สุด หรือเรียกง่ายๆว่า “แดดเผา” (sunburn) แต่ถ้าเพียงทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นเรียกว่าเกิด “ผิวสีแทน” (tanning) กรณีที่ถูกแดดจัดๆนานๆ นอกจากจะทำให้ผิวหนังบวมแดงพองแล้ว อาจมีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย มีไข้ร่วมด้วย

SPF คืออะไร

ค่า SPF หรือ Sun Protection Factor คือค่าความสามารถในการป้องกันรังสีว่านานเท่าใดผิวจึงจะปรากฏอาการแดงเมื่อทาผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบกับการไม่ทาผลิตภัณฑ์ เช่น ผิวโดนแสงแดดโดยไม่ทาครีมกันแดดนาน 25 นาที ผิวจึงแดง แต่เมื่อทาครีมกันแดดแล้วจะใช้เวลานานขึ้นเป็น 375 นาทีผิวจึงแดง ค่า SPF ของครีมนั้นคือ 375/25 = 15 พูดง่ายๆว่าทาครีมนั้นแล้วผิวจะทนแสงนานขึ้น 15 เท่า (ไม่ใช่มากขึ้น 15 เท่า) สำหรับคนไทย ค่า SPF ที่เหมาะสมคือ SPF 15 แต่ปัจจุบันครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่านี้ก็มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ แน่นอนว่าความสามารถในการดูดซับรังสียูวีบีก็จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่มากนัก แต่ที่แน่ๆราคาก็จะสูงตามไปด้วย แถมโอกาสแพ้ก็มากขึ้นเช่นกัน ยังไงก็แล้วแต่ เราอาจจะพบว่าครีมกันแดด SPF 30 แต่พอทาจริงๆวัดแล้วเหลือแค่ 15 ก็มี ไม่ใช่ว่าเขาใส่สารกันแดดไม่ครบหรอกนะคะ แต่เพราะว่าเรามักทาบางกว่าที่เขากำหนดไว้ หรือระยะเวลาหลังทาครีมกันแดดถ้ายิ่งนานค่า SPF ก็จะลดลงด้วยถึง 50% ทำให้ได้ค่า SPF ที่ต่ำกว่าที่ผลิตภัณฑ์ระบุไว้ ดังนั้น ควรเลือกใช้ SPF มากกว่า 30 ขึ้นไป และควรทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง เพราะครีมกันแดดบางส่วนจะถูกเช็ดออกหรือชะล้างออกด้วยเหงื่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พึงระลึกเสมอก็คือ ไม่มีผลิตภัณฑ์กันแดดตัวใดที่จะสามารถป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้ 100%

วันๆแทบไม่โดนแดด จำเป็นหรือไม่ต้องทาครีมกันแดด?

อุ๊ย! อย่าเพิ่งชะล่าใจนะคะ เพราะแม้ว่ารังสียูวีบีจะถูกกรองออกไปได้ด้วยกระจก ไม่มีโอกาสมาแหยมที่ที่เราอยู่ แต่รังสีทุกชนิดอาจเข้ามาในบ้านที่เปิดประตูหน้าต่างไว้ด้วยกระแสลม สรุปได้ว่า ครีมกันแดดยังจำเป็นต้องทานั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login