- เรื่องยังไม่จบPosted 22 hours ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 2 weeks ago
2 ทศวรรษประเทศไทย 2 ทศวรรษ “โลกวันนี้”
ก่อนอื่นต้องขอบคุณผู้สนับสนุนทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับพิเศษขึ้นปีที่ 21 หรือครบรอบ 20 ปีเล่มนี้
หากไม่มีผู้สนับสนุนอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ หนังสือพิมพ์อย่าง “โลกวันนี้” จะไม่มีโอกาสอยู่ได้ถึงวันนี้
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 เป็นวันแรกที่หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวันได้วางจำหน่ายบนแผงหนังสือ ควบคู่ไปกับการเสนอข้อมูลข่าวสารเว็บไซต์ www.โลกวันนี้.com หรือ www.LokWanNee.com
ด้วยกระแสของโซเชียลมีเดียที่ได้ถาโถม ทำให้ธุรกิจหลายอย่างในโลกใบนี้อยู่ได้ยาก อย่างเช่น ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ดังจะเห็นได้จากการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งเล็กและใหญ่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้เป็นหนึ่งเช่นกันที่ต้องตกอยู่ในสภาวะที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
เราได้เลือกหยุดการพิมพ์หนังสือทุกฉบับในเครือกว่า 10 หัวหนังสือที่เป็นฉบับกระดาษ มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี แต่ไม่ได้ยุติการนำเสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นทางออนไลน์ ในทางตรงข้าม เรากลับต้องเร่งการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ทุกด้านเพิ่มขึ้น เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูบ ในชื่อ LokWanNee ที่ค้นหาได้ง่ายดาย อ่านได้ฟรี เพื่อทดแทนผู้อ่านฉบับกระดาษที่หายไป
หากนับจำนวนผู้เสพข่าวสารจากฉบับกระดาษมาเป็นออนไลน์นั้น อาจไม่ได้แตกต่างกัน หรืออาจจะมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม และขยายสู่กลุ่มผู้อ่านใหม่ๆเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่หายไปจากสารบบก็คือเม็ดเงินจากการลงสื่อโฆษณา ซึ่งนั่นคือหัวใจของความอยู่รอดของสื่อทุกแขนงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์จำนวนหนึ่งหายไป ก็มีสื่อใหม่ๆเกิดมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่กระทบไปถึงสื่อดั้งเดิมอื่นๆอีก เช่น สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งสื่อที่เชื่อว่าจะเป็นสื่อแนวใหม่สุดเท่อย่างทีวีดิจิตอล ที่เปิดตัวกันอย่างคึกคัก แต่สุดท้ายต้องถอนตัว ปิดตัวกันไปด้วยสภาพสะบักสะบอมเช่นกัน
หากท่านใดมีโอกาสถือฉบับกระดาษนี้อยู่ ขอให้ท่านรับทราบไว้ว่านี่คือหนึ่งในตำนานของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยปรากฏขึ้นมาในรอบ 2 ทศวรรษ
5-6 ปีหลังมานี้ เราพิมพ์หนังสือโลกวันนี้ออกมาเป็นฉบับกระดาษเพียงปีละ 1 ฉบับเท่านั้น ก็คือวาระครบรอบปี
ทุกครั้งที่พิมพ์ออกมา เราไม่เคยกล้าให้คำมั่นสัญญาใดๆเลยว่าเราจะมีฉบับปีถัดไปหรือไม่
นั่นหมายถึงว่าเมื่อท่านมีโอกาสถือหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่ อาจเป็นฉบับสุดท้ายในบรรณพิภพของ “โลกวันนี้” ได้เสมอ
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาบทความในฉบับพิเศษขึ้นสู่ปีที่ 21 นี้ จะปรากฏทั้งทางออนไลน์และฉบับกระดาษ
ในฉบับออนไลน์สามารถอ่านได้ตามช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์และโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ เพียงค้นหาคำว่า LokWanNee หรือใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ในแต่ละบทความ
“โลกวันนี้” ได้เดินทางมาแล้วถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ทศวรรษ
ทศวรรษแรกของหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ เรานำเสนอข่าวสารในเชิงข้อมูลประกอบธุรกิจ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเน้นเป็นโฆษณาย่อยหรือที่เรียกกันว่า “คลาสสิฟายด์ส” ประกาศรับสมัครงาน ซื้อขายรถยนต์ ซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการต่างๆ ซึ่งในยุคนั้นนับเป็นยุคที่สื่อประเภทคลาสสิฟายด์ส ของโลกวันนี้ภายใต้แบรนด์วัฏฏะเป็นหนึ่งในสื่อที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง
เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคที่กำลังเติบโต รวมถึงการเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 นับเป็นก้าวสำคัญของยุคประชาธิปไตยที่เบ่งบานในประเทศไทย ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่คนไทยมีโอกาสเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาบริหารประเทศด้วยตัวของเขาเอง
แต่ในช่วงทศวรรษที่สองของโลกวันนี้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นเรื่องสร้างสรรค์ และนำประเทศสู่ความศิวิไลซ์อย่างเช่นชาวโลก กลับเกิดความไม่ปกติที่เด่นชัดมากขึ้น
สื่อมวลชนจำนวนมากมีความผิดเพี้ยน และหลุดไปจากกรอบจริยธรรม ซึ่งอ้างกันเสมอว่าเป็นจรรยาบรรณของสื่อ
เวลานั้น “โลกวันนี้” เป็นสื่อหนึ่งซึ่งแทบจะไม่ได้นำเสนอข่าวการเมืองในเชิงวิเคราะห์มาก่อนเลย จึงต้องเริ่มมีข่าวสารบทความเชิงวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองเกิดขึ้น ท่ามกลางสื่อกระแสหลักอื่นๆที่มีทิศทางการนำเสนอข่าวแบบสวนทางกัน โดยเราเลือกใช้สโลแกนว่า “ไม่หลงกระแส เสนอแต่ความจริง” ผ่านหน้าปกหนังสือที่ทำเป็นเซกชั่นพิเศษแถมฟรีในฉบับสุดสัปดาห์ที่ใช้ชื่อว่า “โลกวันนี้วันสุข” (ซึ่งต่อมาได้เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ออกวางแผงทุกวันศุกร์) ควบคู่ไปกับเนื้อหาหลักที่นำเสนอในแนวคิดที่ว่า “เปิดโลกความคิด ให้ชีวิตทันโลก”
นับแต่นั้น “โลกวันนี้” ได้นำเสนอข่าวทุกประเภท พร้อมบทความวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมาอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสครบรอบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ หรือขึ้นสู่ปีที่ 21 ของหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ เราจึงตีพิมพ์ฉบับกระดาษฉบับนี้ไว้เป็นที่ระลึกอีกครั้ง ซึ่งได้รับเกียรติจากคอลัมนิสต์รับเชิญหลายท่านมาร่วมเป็นเกียรติบันทึก “ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษ” ด้านต่างๆเอาไว้
สุดท้าย นอกจากขอบคุณผู้สนับสนุนโฆษณาที่ได้ตีพิมพ์อยู่ในเล่มนี้ “โลกวันนี้” ขอขอบคุณคอลัมนิสต์รับเชิญทุกท่าน ซึ่งทุกท่านก็ใช้สื่อในโซเชียลเน็ตเวิร์คเสนอความคิดต่างๆเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังเสียสละเวลาเขียนบทความและเป็นเกียรติมาร่วมบันทึกใน “โลกวันนี้” ฉบับพิเศษนี้
และที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามเรามาตลอดเวลา 20 ปี รวมถึงผู้ที่เพิ่งเข้ามาอ่านด้วย
ธุรกิจสื่ออย่างเราจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปแล้ว ที่สำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือ เราอยากเห็นความคิดความอ่านของคนที่มีประสบการณ์ (หรือจะเรียกว่าคนยุคเก่า หรืออะไรก็ตาม) ได้มีโอกาสแชร์ความคิดประสบการณ์ต่างๆร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต ท้าทาย กล้าคิด กล้าเปลี่ยนประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้สังคมไทยมีความแตกแยกอย่างร้ายแรง เพราะต่างคนต่างมีทั้งเหตุผลและข้ออ้างในเวลาเดียวกัน
สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็คือ การเปิดใจเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และคนไทยจำเป็นจะต้องกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
คนรุ่นเดิมไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ต่างล้วนค่อยๆล้มหายตายจาก ในขณะที่คนรุ่นใหม่วัยเยาว์กำลังเติบใหญ่
บางครั้งเราอาจจะสายเกินไปที่จะทำอะไรเพื่อวันนี้ แต่ยังไม่สายถ้าทุกคนคิดว่าจะทำอะไรทุกอย่าง เพื่อวันข้างหน้า และคำนึงถึงคนรุ่นถัดไป
ด้วยรักและขอบคุณอย่างจริงใจ
กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
1 พฤศจิกายน 2562
แจกฟรี!! ฉบับพิเศษ
“โลกวันนี้” ขึ้นปีที่ 21
คลิกอ่านที่นี่
https://www.lokwannee.com/stg/wp-content/uploads/2019/10/lokwannee20.pdf
พบกับคอลัมนิสต์รับเชิญ พระพยอม กัลยาโณ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผศ.สุรพศ ทวีศักดิ์, ดร.โสภณ พรโชคชัย, “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ, ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี และ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
You must be logged in to post a comment Login