วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ชวน”เผยเป็นคนหนึ่งไม่รับร่างรธน.60 แนะถ้าแก้ไขอย่าใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยเข่า

On November 5, 2019

วันนี้ (5 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความหวังสภาผู้แทนฯภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ตอนหนึ่งว่า บรรดารัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ตนมีชีวิตตั้งแต่เกิดถึงปัจจุบันอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับที่ 3 ส่วนตัวมีความปรารถนาในการเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น และเป็นนักการเมืองมาแล้ว 50 ปี ส.ส. 16 สมัย รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดโครงสร้างบ้านเมือง สภาถือเป็นองค์กรที่อาจมีการพัฒนาตัวเองน้อยที่สุดในอดีต นอกจากนี้จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ออกมาหลังจากการยึดอำนาจจะมีบทเฉพาะกาลตอนหนึ่งที่เขียนไว้ในลักษณะให้ผู้ที่กำหนดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้เป็นนายกฯต่อ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกฯ มีเสียง ส.ส. สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่มีเสียง ส.ว. สนับสนุนจำนวนมาก เช่นเดียวกับสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

บทเฉพาะกาลในอดีตมีระยะเวลาใช้ไม่นาน จะใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามกระบวนการตามปกติ และไม่ได้กำหนดตำแหน่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวยนัก เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 สามารถใช้ได้ถึงปี 2534 ที่มีการยึดอำนาจ และก็มีรัฐธรรมนูญหลังจากนั้นที่ใช้มาถึงปี 2540 จนมีรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยยากที่สุด สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีอายุนานเท่าไรไม่มีทางรู้

รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดโครงสร้างของประเทศ และอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ยังได้กำหนดเรื่องหลักนิติธรรมให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเรียนรู้มาจากบทเรียนที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการละเมิดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญมีความสำคัญในแง่โครงสร้างก็จริง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นที่มาของการยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ได้เชิญตนไปพบเป็นส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็น ซึ่งตนได้บอกไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิดของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลที่ละเมิดรัฐธรรมนูญและไม่ยึดหลักนิติธรรม

ปัญหาการใช้รัฐธรรมนูญและการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาไปควบคู่กัน พูดง่ายๆคือ ปราชญ์โบราณที่คิดว่าบ้านเมืองจะปกครองได้ดีต้องปกครองด้วยราชาแห่งปราชญ์ กำหนดคุณสมบัติไว้สูงมาก ซึ่งในชีวิตจริงหายาก เพราะการปกครองที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์จริงๆจะต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม ถ้าผู้ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ออกนอกหลักนิติธรรมจะไม่เกิดเหตุการณ์ 2549 และ 2557

ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมาเป็นประธานสภา แต่เป็นช่วงสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่มาก ซึ่งโดยปกติแล้วเขาไม่ให้ตำแหน่งประธานสภา เพราะประธานจะอยู่ที่พรรคใหญ่ที่สุด แต่เที่ยวนี้สำหรับตนเขายกเว้นให้และไม่คิดโควตา ถ้าคิดโควตาแล้วไปแย่งเพื่อนสมาชิกในพรรค ส่วนตัวก็คงจะไม่เป็นประธานสภา เพราะเป็นการเอาเปรียบเพื่อน และในที่สุดคนที่จะเป็นประธานจริงๆเขายอมรับว่าถ้าเป็นตนเขายอมรับ ฉะนั้นเลยตัดสินใจบอกว่าให้ทำงานร่วมกัน ทำให้สภาเป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ที่สำคัญสภาต้องเป็นตัวอย่างของการเคารพกฎหมาย และได้บอกสมาชิกสภาเสมอว่าต้องวางมาตรฐานของสภาให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ และยังบอกกับนายกฯเสมอว่าต้องมาสภาและมาตอบกระทู้ เว้นแต่ท่านจะมีเหตุผล หรือถ้าคณะกรรมาธิการเรียกให้มาชี้แจงก็ขอให้ท่านให้ความร่วมมือ และขอร้องไปยังคณะกรรมาธิการให้เข้าใจว่าคนมาชี้แจงไม่ได้เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหา ต้องมีความพอดีถึงจะทำให้อยู่ด้วยกันได้ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือดีพอสมควร

รัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้คอร์รัปชัน แต่จริงๆมันไม่ใช่ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างและเงื่อนไข แต่หากผู้ปฏิบัติละเมิดและไม่ปฏิบัติ ผลที่อยากให้เกิดขึ้นก็จะไม่เกิด รัฐธรรมนูญของไทยรับมาจากต่างประเทศมาก แต่เมื่อเจ้าของมาเห็นก็บอกว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เช่น ทูตเยอรมนีมาพบและบอกว่าเคยมีประสบการณ์ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย มีเสียงไม่กี่เสียงก็ได้เป็น ส.ส. แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วนของเราที่มีพรรครัฐบาล 15-16 พรรค และฝ่ายค้าน 7 พรรค ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่ได้เห็นมากนัก

ตนเป็นหนึ่งในคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ สิ่งแรกที่ควรจะทำคือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมด พังให้หมด มันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราต้องมาคุยกันว่า ประชาธิปไตยในความปรารถนาของเราคืออะไร เราควรจะมีสภากี่สภา มีวุฒิสภาไหม วุฒิสภาควรมีบทบาทอะไร ควรมาจากระบบแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอย่างไร เพราะหน้าที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน


You must be logged in to post a comment Login