วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“แพทย์-นักวิชาการ”ย้ำการใช้พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชไม่น่ากลัว

On November 6, 2019

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่อง “มลภาวะอากาศกับผลกระทบสุขภาพ”ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ บางส่วนของการประชุมได้มีการบรรยายถึงประเด็นร้อนของสังคมเกี่ยวกับการแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะ “พาราควอต”ขึ้น เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง สร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่กลุ่มนักวิชาการและการแพทย์ในเรื่องความจำเป็นของสารกำจัดวัชพืช พาราควอต กับความจำเป็นในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นแพทย์ระบบการหายใจและปอด มีประสบการณ์กับพิษพาราควอตในผู้ป่วยจากการดื่มพาราควอตเพื่อฆ่าตัวตายหลายราย  โดยการรักษาใช้ดินเหนียวให้ผู้ป่วยกิน ไปลบล้างพิษของพาราควอต ทำให้รักษาชีวิตไว้ได้หลายราย และได้เคยเขียนบทความส่งไปลงพิมพ์ในวารสารวิชาการหลายฉบับ จึงขออธิบายถึงประเด็นด้านสุขภาพที่หลายคนกังวลไว้ดังนี้

โรคเนื้อเน่า แพทย์ทั่วไปจะทราบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การเดินลุยน้ำที่อาจมีสารพาราควอตปนเปื้อนจากการพ่นกำจัดวัชพืช จะได้สัมผัสกับพาราควอตที่เจือจางมาก เพราะสารที่ใช้พ่นต้องเจือจางก่อนและจะถูกเจือจางอีกโดยน้ำที่ขังอยู่ และจะถูกทำให้หมดฤทธิ์เมื่อสัมผัสกับน้ำโคลนดิน สารพาราควอตเองโดยปรกติไม่ถูกดูดซึมทางผิวหนังนอกจากมีบาดแผล ส่วนการรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ก็น่าสงสัยว่าได้มาอย่างไร และในรายงานไม่ได้ระบุว่าแม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพาราควอตหรือไม่อย่างไร อนึ่งเท่าที่ทราบจวบปัจจุบันยังไม่เคยมีรายงานการเกิดพิษพาราควอตในผู้ใช้สารพาราควอตฆ่าหญ้าเลย นอกจากไปดื่มกิน

benjanin2

ดร. เบนจามิน ชูลท์ นักวิชาการผู้มีประสบการณ์เคยทำงานในส่วนของ Regulatory Affairs and Toxicology สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ US EPA และเคยทำงานด้านสาธารณสุขให้กับ International Medical Corpsได้ยกตัวอย่างการใช้สารพาราควอตในสหรัฐอเมริกา ที่ยังอนุญาตให้เกษตรกรใช้ได้ มีการประเมินข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ด้วยหลักการทำ Risk Assessment จากอดีตถึงปัจจุบันเกี่ยวกับพาราควอตของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐด้านความเสี่ยงต่อสุขภาพ พบว่า “พาราควอต” ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน รวมทั้ง ไม่พบความเสี่ยงในการตกค้างของพาราควอตในการบริโภคอาหาร และการสเปรย์พาราควอตจะไม่มีความเสี่ยงต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงหากปฏิบัติอย่างถูกต้อง ในอเมริกามีการจำกัดการใช้พาราควอต โดยต้องควบคุมคุณภาพ เติมสี กลิ่น สารกระตุ้นการอาเจียน มีคำแนะนำไม่ให้เอาไปดื่มกิน มีการใช้เครื่องฉีดพ่นระบบปิด ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ผู้ใช้และผู้ซื้อต้องผ่านการอบรม

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้มีการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาทางด้านสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องดูแล วิธีการใช้ วิธีการทำงาน สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ถูกต้อง จะมีปัญหาต่อสุขภาพของเกษตรกรแน่นอน ข้อมูลการปนเปื้อนในอาหารที่พูดถึงกันนั้นไม่ชัดเจน ไม่มีนัยสำคัญทางพิษวิทยา ถ้ามีปัญหาการปนเปื้อนในอาหาร สินค้าส่งออกต่างๆ อาจถูกระงับการจัดซื้อมานานแล้ว ส่วนข้อมูลปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ต้องดูว่าการวิเคราะห์แม่นยำ ถูกต้องแน่นอนไหม ต้องมีการยืนยันได้

“การใช้พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช ไม่น่ากลัว อยากให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนและอนุญาตให้เกษตรกรใช้ในการกสิกรรม แต่ต้องมีวิธีการจัดการ เช่นการขายในภาชนะบรรจุสำเร็จรูป อาทิ ก๊าซหุงต้ม มีการให้ความรู้กับผู้ใช้ สำหรับประชาชน โปรดพิจารณาข่าวสารอย่างรอบคอบ ติดตามข้อมูลงานวิจัยหรือการศึกษาต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน และยังไม่ควรยกเลิกใช้สาร พาราควอต ในกสิกรรมของไทยในที่สุด”ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย กล่าวสรุป


You must be logged in to post a comment Login