วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“สตรีวัยทอง” วัยแห่งคุณค่า

On November 8, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  8-15 พฤศจิกายน 2562)

สตรีวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนคือวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ ส่วนใหญ่เกิดกับสตรีอายุระหว่าง 45-55 ปี มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง

เมื่ออาการวัยทองมาเยือน…ทราบได้จาก

– มีอาการร้อนวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ

– ชาตามปลายมือ ปลายเท้า

– เหงื่อออกง่าย และมักจะมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน

– เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ใจน้อย ซึมเศร้า

– บางรายมีอารมณ์ทางเพศลดลง

– ช่องคลอดแห้ง แสบ

– ปัสสาวะบ่อย และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

– ระยะหลังหมดระดูไปนานแล้วปัญหาที่พบ ได้แก่ กระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองเสื่อม

เตรียมตัว…เตรียมใจ…ก้าวสู่วัยทอง

ผู้ที่มั่นใจว่าเข้าสู่วัยทอง จะมีอายุยืนยาวเป็นผู้สูงอายุต่อไปในอนาคต ควรมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมดังต่อไปนี้

1.ละเว้นจากพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติดและของมึนเมา

2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ ควรลดอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อให้ไตไม่ต้องทำงานหนักเกินไป และลดความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน ควรลดอาหารที่มีรสชาติหวานและไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

3.เสริมแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย นมและผลิตภัณฑ์ของนม แต่สำหรับผู้สูงอายุถ้าจะดื่มนมควรดื่มประเภทพร่องมันเนย หรือจะรับประทานเป็นยาเม็ดแคลเซียมแทนก็ได้ แต่มีข้อพึงระวังในผู้ที่เป็นโรคไต จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

4.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น จะเป็นประเภทใดก็ได้ ขึ้นกับความชอบและความสะดวก ท่านที่ออกกำลังกายแล้วก็ทำต่อไปได้ แต่ท่านที่ไม่ค่อยออกกำลังกายให้เริ่มจากน้อยๆก่อนแล้วเพิ่มขึ้นช้าๆ ข้อสำคัญคือความสม่ำเสมอ สำหรับท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าการออกกำลังกายประเภทใดที่ท่านสามารถทำได้

5.พักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อคลายเครียดบ้าง

6.คู่สมรสควรจะได้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความต้องการและปัญหาด้านเพศสัมพันธ์หากความพอใจของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน

7.ไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพประจำปี ซึ่งโดยพื้นฐานท่านควรชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ตรวจเลือดเช็กเบาหวานและไขมันในเลือด การตรวจเต้านมและการตรวจภายใน พร้อมกับการเช็กมะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงก็ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม

8.ในกรณีที่ท่านรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพชีวิตของท่าน อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ ท่านจะได้พูดคุยปรึกษาเพื่อเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งทางเลือกเหล่านั้นอาจจะเป็นการใช้ฮอร์โมน ยา หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมกับตัวท่าน


You must be logged in to post a comment Login