วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ภารกิจกู้ร่าง

On November 15, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  15-22 พฤศจิกายน 2562)

ผู้โดยสารและลูกเรือกว่า 2,200 ชีวิต ลอยคอกลางมหาสมุทรท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นหลังอภิมหาเรือสำราญไททานิกชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งก่อนจะจมดิ่งลงสู่ก้นทะเล มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ถึง 1 ใน 3 ส่วนที่เหลือทำได้เพียงแค่กู้ร่างผู้ประสบภัยนำคืนสู่ญาติ

วันที่ 10 เมษายน 1912 เรือเดินสมุทรไททานิกออกเดินทางจากท่าเรือเมืองเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ เดินทางไปรับผู้โดยสารที่เมืองแชร์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส และเมืองควีนส์ทาวน์ ประเทศไอร์แลนด์ ก่อนเดินเครื่องเต็มกำลังมุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศอเมริกา

ไททานิกได้ชื่อว่าเป็นเรือสำราญลำใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด และทำความเร็วได้สูงที่สุดในโลก จนถึงกับมีคนกล่าวว่าไททานิกเป็นเรือที่ไม่มีวันจม เวลา 23.40 น. คืนวันที่ 14 เมษายน 1912 เรือไททานิกชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งที่บริเวณ 375 ไมล์ห่างจากชายฝั่งเมืองนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา

เรือที่ได้ชื่อว่าไม่มีวันจมกลับดิ่งลงสู่ก้นทะเลในการเดินทางครั้งแรก เนื่องจากไททานิกมีเรือชูชีพไม่เพียงพอกับผู้โดยสารและลูกเรือที่มีจำนวนมากถึง 2,200 คน ทำให้ผู้ประสบภัยกว่า 1,500 คน ต้องลอยคออยู่ในทะเลท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ

ช่วยเท่าที่ช่วยได้

เวลา 03.30 น. เรือคาร์เพเทียเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ หลังจากใช้เวลา 30 นาทีส่องหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางความมืดอย่างสิ้นหวัง ลูกเรือก็เห็นพลุสัญญาณจากเรือชูชีพลำหนึ่ง และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็เริ่มขึ้น หลังจากนั้นก็พบเรือชูชีพอีกหลายลำ การค้นหาดำเนินไปจนถึงเวลา 08.30 น. สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทั้งสิ้น 705 คน

หลังจากช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้แล้ว ภารกิจต่อไปคือการกู้ร่างผู้เสียชีวิต เรือแมคเคย์-เบนเนตได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ วันที่ 17 เมษายน เรือแมคเคย์-เบนเนตออกเดินทางจากท่าเรือฮาลิแฟกซ์ ประเทศแคนาดา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 800 ไมล์ แต่เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุด

เรือแมคเคย์-เบนเนตออกเดินทางพร้อมกับโลงศพ 100 โลง น้ำแข็ง 100 ตัน และแท่งเหล็กน้ำหนักรวม 12 ตัน วันที่ 19 เมษายน เรือแมคเคย์-เบนเนตเดินทางมาถึงจุดที่เรือไททานิกอับปาง กัปตันเฟรเดอริก ลาร์นเดอร์ พบว่ามีจำนวนร่างผู้เสียชีวิตมากเกินกว่าที่เขาคาดคิดเอาไว้ อุปกรณ์ที่เขาเตรียมมานั้นไม่เพียงพอที่จะกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด

วันแรกสามารถกู้ได้ 51 ร่าง ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่สวมเสื้อชูชีพ นอนหงายลอยคอ มีรอยช้ำที่ศีรษะและหัวไหล่ การกู้ร่างยุติลงเมื่อหมดแสงตะวัน วันต่อมากู้ร่างได้เพียงเล็กน้อย แต่ในวันที่ 22 เมษายน สามารถกู้ได้ 119 ร่าง หัวหน้าสัปเหร่อทำการฉีดยากันเน่าเปื่อยพร้อมกับติดป้ายหมายเลขที่ร่างผู้ประสบภัย และนำข้าวของเครื่องใช้ของพวกเขาบรรจุลงในถุงผ้าใบโดยติดป้ายหมายเลขเดียวกันกับเลขของเจ้าของ

ถ่วงก้นทะเล

หลังจากโลงศพและน้ำยากันเน่าเปื่อยหมดลง หัวหน้าสัปเหร่อก็นำร่างผู้เสียชีวิตที่เหลือแช่น้ำแข็ง ไม่นานนักเรือก็แน่นไปด้วยร่างผู้เสียชีวิตจนไม่มีที่ว่าง กัปตันเฟรเดอริกต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ทำให้ลำบากใจด้วยการถ่วงร่างผู้เสียชีวิตลงสู่ก้นทะเล

กัปตันเฟรเดอริกวิทยุมายังท่าเรือฮาลิแฟกซ์ แจ้งว่าผู้เสียชีวิตมีจำนวนมาก ไม่สามารถนำร่างพวกเขากลับเข้าฝั่งได้ทั้งหมด มีความเห็นว่าควรจะถ่วงร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดลงสู่ก้นทะเล นอกจากมีญาติของผู้เสียชีวิตรายใดที่แจ้งความจำนงต้องการให้นำร่างผู้เสียชีวิตมาประกอบพิธีทางศาสนา เรามีพื้นที่เพียงพอจะนำร่างผู้เสียชีวิตกลับแค่เพียง 70 ร่าง

ท่าเรือฮาลิแฟกซ์ตอบกลับว่า ขอให้กัปตันเฟรเดอริกนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ มันเป็นการยากที่จะตัดสินใจว่าจะนำร่างใดกลับเข้าฝั่งและเอาร่างใดถ่วงลงก้นทะเล ในที่สุดกัปตันเฟรเดอริกตัดสินใจว่าจะนำร่างผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสองกลับเข้าฝั่ง ส่วนร่างผู้โดยสารชั้นสามและลูกเรือจะถูกถ่วงลงก้นทะเล

เรือแมคเคย์-เบนเนตกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด 306 ร่าง กัปตันเฟรเดอริกสั่งลูกเรือนำแท่งเหล็กที่เตรียมมาถ่วงร่างผู้เสียชีวิต 116 ร่างลงสู่ก้นทะเล ร่างผู้เสียชีวิต 190 ร่างนำกลับเข้าฝั่ง จากเดิมที่คาดว่าจะนำกลับได้แค่เพียง 70 ร่าง ในจำนวนนี้สามารถระบุตัวตนได้เพียงแค่ 56 ร่าง

เก็บไม่หมด

ท่าเรือฮาลิแฟกซ์ส่งเรือมิเนียมาช่วยเรือแมคเคย์-เบนเนต เรือมิเนียบรรทุกโลงศพ 150 โลง น้ำแข็ง 20 ตัน และแท่งเหล็กน้ำหนักรวม 10 ตัน เดินทางมาถึงจุดที่เรือไททานิกอับปางวันที่ 26 เมษายน หลังจากใช้เวลาค้นหา 1 สัปดาห์ เรือมิเนียค้นพบผู้เสียชีวิต 17 ร่าง แต่นำกลับเข้าฝั่งเพียงแค่ 15 ร่าง ถ่วงลงก้นทะเล 2 ร่าง เนื่องจากสภาพศพเน่าเฟะเกินกว่าที่จะนำกลับมาได้

วันที่ 6 พฤษภาคม ท่าเรือฮาลิแฟกซ์ส่งเรือมองต์แมกนีย์ออกค้นหาร่างผู้เสียชีวิตอีกครั้ง เรือมองต์แมกนีย์พบผู้เสียชีวิตอีก 4 ร่าง นำกลับเข้าฝั่ง 3 ร่าง และถ่วงลงก้นทะเล 1 ร่าง วันที่ 16 พฤษภาคม เรือแอลจีเรียนออกเดินทางตามมาช่วยค้นหา ใช้เวลานาน 3 สัปดาห์ พบร่างผู้เสียชีวิตเพียงแค่ 1 ร่าง นับเป็นร่างสุดท้ายของการค้นหา

หลังจากนั้นมีเรือแล่นผ่านไปมาในบริเวณนั้นพบร่างผู้เสียชีวิตอีก 4 ครั้งในเวลาที่แตกต่างกัน โดยพบร่างผู้เสียชีวิตรวม 9 ร่าง ทุกร่างล้วนถูกนำแท่งเหล็กถ่วงเพื่อให้จมลงสู่ก้นทะเล

ร่างผู้เสียชีวิต 150 ร่าง ถูกนำไปฝังในสุสาน 3 แห่งในเมืองฮาลิแฟกซ์ 43 ร่างในจำนวนนี้ไม่สามารถระบุตัวตนผู้เสียชีวิตได้ ผู้เสียชีวิตที่เหลือถูกนำไปฝังในสุสานต่างๆหลายแห่งนอกเมืองฮาลิแฟกซ์

รองเท้ายืนยัน

นักวิทยาศาสตร์ใช้ความรู้ทางด้านพันธุกรรมและตัวอย่างฟันสืบหาตัวตนของร่างทารกเคราะห์ร้ายรายหนึ่งจนพบว่าเป็นร่างของไอโน วิลจามิ พานูล่า ชาวฟินแลนด์วัย 13 เดือน ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกับพ่อและแม่จากเหตุการณ์ไททานิกอับปาง

หลังจากที่ร่างผู้เคราะห์ร้ายถูกนำขึ้นฝั่งกองเรียงรายอยู่ที่ท่าเรือฮาลิแฟกซ์ ตำรวจคอยตรวจตราเฝ้าระวังไม่ให้มีคนร้ายลอบเข้ามาลักขโมยทรัพย์สินหรือของใช้ส่วนตัวเพื่อเก็บเป็นของที่ระลึก ผู้เสียชีวิตได้รับการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ส่วนชุดที่สวมใส่ขณะเสียชีวิตถูกนำไปเผา

สิบโทคลาเรนซ์ นอร์ธโอเวอร์ เป็นหนึ่งในตำรวจที่ทำหน้าที่ตรวจตราท่าเรือฮาลิแฟกซ์เมื่อปี 1912 เขาอยากเก็บรองเท้าของทารกผู้เคราะห์ร้ายรายหนึ่งจึงถอดออกจากศพและนำไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานที่สถานีตำรวจ และต่อมากลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลาน

ปี 2011 หลานของคลาเรนซ์นำรองเท้าคู่นี้มามอบให้กับพิพิธภัณฑ์เดินเรือในเมืองฮาลิแฟกซ์ ทำให้รู้ว่าร่างทารกเคราะห์ร้ายที่เข้าใจว่าเป็นร่างวิลจามิวัย 13 เดือนนั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะขนาดของรองเท้าใหญ่เกินกว่าจะเป็นของทารกวัย 13 เดือน จึงมีการรื้อฟื้นสืบสวนหาตัวตนเจ้าของรองเท้าอีกครั้ง

เทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอสมัยใหม่ทำให้พบว่าเจ้าของรองเท้าคือซิดนีย์ เลสลีย์ กู๊ดวิน ทารกชาวอังกฤษวัย 19 เดือน ซึ่งเสียชีวิตพร้อมกับพ่อแม่และพี่ชายพี่สาวอีก 5 คน ในเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง นับว่าเป็นผู้เคราะห์ร้ายรายล่าสุดที่สามารถระบุตัวตนได้สำเร็จ

 

1

1.ภาพจำลองเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง

2

2.ผู้โดยสารเดินผ่านเรือชูชีพบนเรือไททานิก

3

3.เรือชูชีพผู้ประสบภัยรอคอยความช่วยเหลือ

4

4.ผู้ประสบภัยบนเรือแมคเคย์-เบนเนต

5

5.เรือชูชีพถูกนำมาแขวนไว้ข้างเรือแมคเคย์-เบนเนต

6

6.รองเท้าทารกช่วยไขปริศนาร่างผู้เคราะห์ร้าย

7

7.ซิดนีย์ เลสลีย์ กู๊ดวิน


You must be logged in to post a comment Login