- ปีดับคนดังPosted 22 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดลติดท็อปเท็น “มหาวิทยาลัยคุณธรรม” พิสูจน์ 3 ปีก้าวกระโดดสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้อันดับสูงที่สุด”
บนเส้นทางในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ทุกมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรายุทธ สุภาพรรณชาติ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งได้กำหนดพันธกิจหลักเพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมการประเมินคุณธรรมความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment – ITA) ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 83 แห่ง โดย มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ A ติดอันดับ 1 ใน 10 และขึ้นชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ได้อันดับสูงที่สุด”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรายุทธ สุภาพรรณชาติ กล่าวต่อไปว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลถึงแม้จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงาน เรามีความจริงจังมากในเรื่องการป้องกันทุจริตประพฤติมิชอบทางราชการ โดยได้พยายามเน้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่า “ITA คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องการ ไม่ใช่เพราะ ป.ป.ช.ต้องการ”
“มหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มเข้าร่วมประเมิน ITA ตั้งแต่ปี 2560 ปีแรกที่เราทำ เราได้ที่ 65 ด้วยคะแนน 73.88 คะแนน ซึ่งเป็นอันดับที่อยู่รั้งท้าย และถือว่ายังไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดให้ 90 คะแนนขึ้นไปถึงจะผ่านประเมิน ในตอนนั้นมหาวิทยาลัยเรารู้สึกกังวลกันมากว่าทำไมเราถึงทำได้เพียงเท่านั้น เพราะครั้งแรกที่มีการตรวจประเมิน ทุกคนยังไม่ทราบว่าตรวจอะไร และต้องทำอย่างไร ซึ่งก็เหมือนกับว่า ข้อสอบมีอย่างนี้แต่เราตอบไม่ตรง ก็เลยมีการปรับแผนกันในปีต่อมา”
“มาถึงปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่ 2 เราได้พยายามเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนประชุมทุกหน่วยงาน เพื่อให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าเราซื่อสัตย์ โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยมีกระบวนการต่างๆ ที่ทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และถูกต้องตามนโยบายของ ป.ป.ช. จนเราสามารถก้าวกระโดดขึ้นสู่อันดับที่ 19 ด้วยคะแนน 85.56 คะแนน ซึ่งถือว่ายังไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ก็ดีขึ้นกว่าปีแรกอย่างเห็นได้ชัด”
“จากนั้น เราได้พยายามทำให้ประชาคมมหิดลตระหนักว่า เราไม่ต้องการให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และจะมีการตรวจสอบลงไปถึงระดับล่างของมหาวิทยาลัย ตลอดจนมีช่องทางเว็บไซต์ที่เหมือนเป็นการเป่านกหวีด (whistle blow) ชี้ช่องหรือแจ้งให้ทราบได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแสดงตัว และไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ เพื่อที่จะทำให้สามารถไปติดตามสกัดไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องเกิดขึ้นได้”
“จนมาในปี 2562 นี้ ซึ่งเป็นปีที่ 3 เราสามารถขึ้นมาถึงอันดับที่ 4 และผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ A ด้วยคะแนน 92.22 คะแนน ทำให้เรามั่นใจได้ว่ามหาวิทยาลัยเรามีการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพอไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ก็จะทำให้เงินทั้งหมดถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สรายุทธ สุภาพรรณชาติ กล่าว
9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่ องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้กำหนดให้เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล (International Anti-Corruption Day) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption)
ในโอกาสสำคัญนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดจัดโครงการวันต่อต้านการทุจริตสากลขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2562 โดยจะมีประชาคมมหิดลกว่า 1,000 คนมารวมตัวโดยพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณอาคารสำนักงานอธิการบดี และพื้นที่โดยรอบ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมแสดงพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นองค์กรของรัฐที่จะต้องมีส่วนช่วยผลักดันในการยกระดับธรรมาภิบาล และสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริตตามยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว
****
เขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
You must be logged in to post a comment Login