วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

MEA จับมือ CU-EA ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ

On December 17, 2019

1576595731667

3 CEO ชั้นนำด้านพลังงานและการศึกษา นำโดยการไฟฟ้านครหลวง (MEA) พร้อมด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer และอาคารอัจฉริยะ ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตเมืองมหานครอัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า ครั้งแรกในประเทศไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1576595723694

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวว่า MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ามหานครอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดย MEA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer และอาคารอัจฉริยะ ในพื้นที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญตั้งอยู่ใจกลางเมืองและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง มีศักยภาพในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ประมาณ 20 เมกะวัตต์

โดย MEA มีหน้าที่ในการออกแบบติดตั้ง Solar Rooftop และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สามารถรองรับการทดลองซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer รวมทั้งดูแลและควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการซื้อขายไฟฟ้าให้อยู่ในวงจำกัด ไม่กระทบต่อโครงข่ายของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในภาพรวม โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะช่วยให้ MEA มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย เพิ่มความมั่นคงและความมีเสถียรภาพให้แก่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศในการลดค่าใช้จ่ายการลงทุนก่อสร้าง หรือเลื่อนระยะเวลาที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆได้

1576595719854

ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวคิดในการพัฒนา Chula Smart Campus นั้น ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ “SMART 5” คือ 1.Smart Energy 2.Smart Environment 3.Smart Mobility 4.Smart Security และ 5.Smart Community โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเน้นที่การพัฒนาเสาหลักทางด้าน Smart Energy ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่ประกอบด้วยการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-peer และอาคารอัจฉริยะ พร้อมทั้งจะทำการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบ P2P เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในประเด็นต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์กลไกตลาด (Market Mechanisms) การออกแบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้า และการออกแบบอัตราค่าผ่านทาง (Wheeling charge) ที่เหมาะสมกับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศในมิติด้านพลังงาน และเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นแบบเมืองอัจฉริยะทางด้านพลังงานต่อไป

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัทพร้อมแล้วที่จะนำ Trading Platform ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น โดยร่วมกับทีมงานของ Blockfint มาใช้ทดสอบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ณ สถานที่จริงเป็นครั้งแรก พื้นที่ที่ทดสอบในโครงการนี้จะพัฒนาเป็นอาคารอัจฉริยะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเหมาะสมและความพร้อมสูง สำหรับระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้านี้ใช้ชื่อว่า Gideon (กิเดียน) เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานที่ลูกค้าสามารถซื้อพลังงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง มี AI ช่วยในการทำนายและเทรดได้แบบอัตโนมัติ และใช้เทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการ จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งในระยะถัดไปบริษัทมีแผนที่จะทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบนิเวศให้เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานตามเจตนารมณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลสำเร็จจากโครงการนี้จะนำไปสู่การมีระบบการผลิต จำหน่าย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศให้รองรับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโตของการผลิตพลังงานทดแทนในประเทศ ที่ผ่านมาทั้ง 3 หน่วยงานได้ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนมหานครอัจฉริยะมาอย่างต่อเนื่อง โดย MEA ได้ร่วมกับ EA ในการขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 สถานีทั่วเขตจำหน่ายของ MEA ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ในขณะที่ MEA ได้ลงนามความร่วมมือกับ CU ในการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรมรองรับโครงการเมืองจุฬาฯอัจฉริยะ (CHULA Smart City) โดยบูรณาการร่วมกันเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่การศึกษาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4-ถนนพระราม 1-ถนนบรรทัดทอง-ถนนอังรีดูนังต์ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการเดินหน้าสร้างมหานครอัจฉริยะ โดยนำร่องที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใจกลางกรุงเทพฯ และพร้อมขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


You must be logged in to post a comment Login