วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ความจริงกับกฎหมายไม่ตรงกัน

On December 18, 2019

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 18 ธ.ค. 62)

เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวคุณไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ออกมาโต้คำที่มีคนชอบพูดชอบบ่นกันว่า คนรวยนอนบ้าน คนจนนอนคุก โดยท่านมีคำถามว่า แล้วในคุกมีคนจนหรือคนรวยมากกว่ากัน จากรายงานของคณะทำงานพบว่า ปี 2561 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 680,000 คน กว่า 90,000 คนถูกศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้จำคุก ที่เหลือร้อยละ 42 ศาลปล่อยเพราะรอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ และร้อยละ 58 ศาลสั่งปรับ กักขัง

แสดงว่ามีคนติดคุกจริงๆเพียงร้อยละ 16.5 แต่มีคนจนกี่เปอร์เซ็นต์ คนรวยกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่เคยมีงานวิจัยที่ไหน และในประเทศไทยก็ไม่มียืนยัน อีกทั้งไม่มีการนิยามว่าคนจนคนรวยแตกต่างกันตรงไหน ที่สำคัญเมื่อแยกไม่ออกเราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน แต่แน่นอนที่สุดการจับคนรวยนั้นจับยาก เวลาให้ประกันคนที่หนีประกันส่วนใหญ่คือคนรวย พร้อมกับเตือนให้ดูตัวเลข ฟังข้อมูลจริง อย่าหลงข่าวดราม่าชี้นำสังคม ที่จริงแล้วยังไม่ได้มีการทำวิจัยอะไรเลย มีแต่คนพูดกันไป เรื่องนี้เป็นอย่างที่ว่า คนจนไม่ควรจะติดคุก คนรวยก็ไม่ใช่ว่าจะต้องติดคุก คนจนถ้าหากมีโอกาสสู้คดีก็อาจจะรอด

อาตมามองว่าเวลานี้ข่าวมีลักษณะที่กฎหมายกดหัวบางฝ่าย บางพวก อาจจะไม่รู้ว่าใครจะตัดสินด้วยความถูกต้อง ที่สำคัญมีการช่วยกันอย่างไร เรื่องนี้มันก็ยากที่จะบอกว่าไม่มีเลย คนรวยโดนติดคุกทุกราย แต่บางรายก็ทำให้สงสัย และความสงสัยของสังคมอยู่ที่มาตรฐานว่าจะควบคุมการใช้กฎหมายอย่างไรไม่ให้เป็นการกดหัว ช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมาช้านาน ท่านประธานศาลฎีกาจึงออกมาท้วงๆติงๆว่า อย่าเพิ่งพูดกันไปมากนัก เพราะยังไม่มีการทำวิจัยอะไรกัน ถ้าทำแล้วมันออกมาเป็นอย่างนั้นจริงๆค่อยว่ากันอีกที

บางเรื่องก็เห็นชัดอยู่ว่าความจริงกับกฎหมายไม่ตรงกัน บางทีเขียนไว้งั้นๆ แต่เอาเข้าจริงๆไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ยกตัวอย่างง่ายๆกรณีที่ดิน เขาบอกว่าผู้ใดโดนบุกรุกที่ไปใช้ ไปทำมาหากิน หรือยึดครองในเจ้าของที่ ก็ต้องมีเวลากำหนดให้ภายใน 1 ปี นี่บางทีเลยไป 2 ปี 7 เดือน เพิ่งจะมาโวยวาย ทักท้วง แต่ศาลก็ตัดสินให้คืนให้ฝ่ายนั้นได้

ทั้งๆที่ตัวกฎหมายก็มีตามมาตรานี้ อย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงๆมันไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ทุกตัวบทกฎหมาย เพราะฉะนั้นพูดถึงเรื่องกฎหมายก็มีเรื่องมาตรฐานเดียวกัน สองมาตรฐาน หรือบางทีเรื่องความยุติธรรม ความไม่ยุติธรรม แต่เอาล่ะ ท่านประธานศาลฎีกาบอกว่าจะดำรงตำแหน่งนี้ด้วยความยุติธรรม ก็ขออนุโมทนา คอยสอดส่องมองดูอย่าให้คนใช้ช่องว่าง ช่องโหว่ทางกฎหมายทำมาหากินกัน

อย่างกรณีเด็กที่ทำกระทงขายเมื่อไม่นานมานี้ค่อนข้างพูดยากว่า จะรักษากฎหมายหรือรักษาความจริงว่าเด็กไม่ได้ทำมาสืบเนื่อง เพิ่งจะมาทำแล้วก็ถูกว่าจ้างให้ทำ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วมีการโวยวายกันขึ้นมา ถือเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าคนรวยไม่น่าจะพ้นคุกทุกคดี คนจนก็ไม่น่าจะติดคุกทุกราย ก็เป็นรายๆไป เป็นธรรมสัจจะเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี เฉพาะบุคคลไป

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login