- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดล จัดโครงการ “ลดลงสักนิด พิชิตโรค” ลดเสี่ยงเบาหวาน
“โรคเบาหวานความจริงใกล้ตัวกว่าที่คิดมาก ปัจจุบันคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 8.9 ของคนไทยทั้งหมดเป็นเบาหวาน และที่น่ากลัว คือ ร้อยละ 50 ของคนไข้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ทราบเลยว่าตัวเองเป็นเบาหวาน ส่วนที่รู้ตัวแล้วก็ยังมีอีกประมาณร้อยละ 40 ที่ไม่ได้รับการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคนที่แม้ยังไม่เข้าเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานแต่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต”
นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริบาลผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยาย “เบาหวานที่เคยได้ยิน กับความจริง อาจไม่เหมือนกัน” จัดโดย หน่วยพยาบาลด้านป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ งานการพยาบาลตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ณ ห้องประชุม 7008 ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ
“เบาหวานในช่วงที่เริ่มเป็นโดยมากมักจะไม่มีอาการอะไร แต่หากปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นเหมือนกับยาพิษออกฤทธิ์ช้าๆ ที่จะค่อยๆ กัดกินเส้นเลือดทั่วร่างกายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายพอร่างกายเราทนไม่ไหว ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ตามมา เช่น ต่อสมอง หัวใจ ไต ตา และเท้า แล้วคนไข้ถึงจะมาโรงพยาบาล ซึ่งมักจะช้าเกินไปแล้วปัญหาเกิดจากความไม่ตระหนักในการป้องกันโรค เพราะฉะนั้นอยากให้คนทั่วไปดูตัวเองว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ หากคนใดมีความเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง และหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็ควรรีบรักษาให้ทันท่วงทีตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งการรักษาควบคุมโรคให้ดีแต่แรกสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี”
“คนทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเป็นเบาหวานได้ โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือคนมีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายด้านทั้งกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมแม้ว่าบางรายมีพ่อแม่เป็นเบาหวาน แต่ถ้ามีพฤติกรรมที่ดี ก็อาจจะไม่เป็นเบาหวาน ในขณะที่บางรายพ่อแม่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง และขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอก็สามารถเป็นเบาหวานได้”นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ กล่าว
ปัจจุบันพบว่าคนไข้เป็นเบาหวานอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน จึงไม่ควรประมาท เพราะยิ่งอายุน้อย ยิ่งทำให้มีเวลาในการสัมผัสกับการเป็นโรคนานขึ้น รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคก็มากขึ้นด้วย ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ในระยะยาว และต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมาก โดยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ แนะนำว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กสอนให้กินผักกับออกกำลังกายให้มากขึ้น และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีรสหวานโดยฝึกดื่มน้ำเปล่าให้เป็นนิสัยจะปลอดภัยที่สุด
จากรายงานวิจัยที่ว่าสารความหวานเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้เกิดอาการเสพติดความหวาน คล้ายกับการติดเหล้า และบุหรี่ซึ่งในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ ไม่แนะนำให้ผู้ที่ติดหวานอย่างรุนแรง หยุดหวานทันที แต่ควรค่อยๆ ถอนออกจากที่เคยดื่มน้ำหวานทุกวัน อาจจะเริ่มดื่มเพียงวันเว้นวันก่อน แล้วค่อยๆ ห่างไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น และหยุดกินหวานให้ได้ การหยุดหวานในทันทีอาจทำให้หงุดหงิด อารมณ์ก้าวร้าว และรู้สึกโหยความหวานซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดก็จะกลับมารับประทานอาหารรสหวานอีกเช่นเคย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแรกๆ อาจต้องฝืนแต่พอเปลี่ยนไปสักระยะนึงจะทำให้เราเริ่มชิน และรู้สึกว่าไม่กินหวานก็อยู่ได้และยังมีอาหารที่ไม่ต้องมีรสหวานแต่มีความอร่อยอีกมากมายให้เลือกรับประทาน
นอกจากนี้ การใช้สารแทนน้ำตาลเพื่อให้ค่อยๆ ถอนน้ำตาลธรรมดาออกไป ก็สามารถทำได้ หากไม่ได้รับประทานจนเกินขนาด อย่างไรก็ดีหากเรายังกินของที่มีรสหวานต่อเนื่อง ร่างกายและสมองจะถูกหลอกว่าต้องการความหวาน เราก็จะไปกินหวานอย่างอื่นเพิ่มเติมโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการใช้สารแทนน้ำตาลจึงควรทำเพียงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อการวางแผนลดหวานต่อไปในระยะยาว มากกว่าที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง
“ขอเพียงมีความตั้งใจ ก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดย ศูนย์เบาหวานศิริราช (SiDM), ภาควิชาอายุศาสตร์, เวชศาสตร์การกีฬาและหน่วยการพยาบาลด้านป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดโครงการ “ลดลงสักนิด พิชิตโรค”เพื่อให้ความรู้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วนอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินโครงการมาปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้วผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-2419-9568 หรือ 0-2419-9569 https://www.si.mahidol.ac.th/sdc หรือ FB: ศูนย์เบาหวานศิริราช” นายแพทย์ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
โทร.0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login