- ปีดับคนดังPosted 4 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดลริเริ่มสอนกู้ชีพออนไลน์พร้อมเตรียมเปิดศูนย์ฝึกตั้งเป้านศ.ทุกคนทำCPRเป็น
โลกในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างจากโลกในศตวรรษที่ผ่านมาในทุกด้าน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การศึกษาจึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง โดยจำเป็นต้องเพิ่มทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษา ทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับโลก ตลอดจนความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการเป็นพลเมืองที่ดี
รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายรำลึกถึงวันที่ประเทศไทยได้ประสบภัยพิบัติครั้งรุนแรง และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากภัยพิบัติ จะได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ และดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ซึ่งหลายคนรอดพ้นจากนาทีวิกฤติของชีวิตจากการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือการกู้ชีพ
จากการเป็นมหาวิทยาลัยไทยที่ดีที่สุดทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ปี 2020 จากการจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) มหาวิทยาลัยมหิดลคาดหวังให้นักศึกษาทุกคนสามารถทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานได้ ตามดำริของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่าการทำ CPR เป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษา โดยสามารถนำความรู้ด้านสุขภาพ ไปทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของสังคมได้
“มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันที่เกิดจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ เป็นความคาดหวังของคนในสังคมในเรื่องของการแพทย์ เราจึงคิดริเริ่มให้นักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้การทำ CPR หรือกู้ชีพเบื้องต้น เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งอาจเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัวหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีในเบื้องต้นได้ทันท่วงที โดยเราจะเป็นที่แรกที่ตั้งเป้าว่านักศึกษาทุกคนจะต้องผ่านการอบรม CPR ขั้นพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักศึกษาแพทย์ แต่อย่างน้อยได้เรียนรู้วิธีการที่จะช่วยชีวิตผู้ประสบภัยยามฉุกเฉินได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งรวมถึงความสามารถในการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดอัตโนมัติ AED ที่อยู่ใกล้ตัวด้วย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาพื้นที่หอพักนักศึกษามหิดล (ศาลายา) ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยได้มีการเตรียมจัดสร้างห้อง Mahidol BLS (Basic Life Support) Training Center ไว้เพื่อเป็นพื้นที่ฝึกการกู้ชีพเบื้องต้นให้กับนักศึกษาฝึกทำ CPR และใช้เครื่อง AED โดยจะมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานพร้อมติดตั้ง ได้แก่ หุ่นฝึกช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน จำนวน 30 ชุด และอุปกรณ์แสดงผลจำนวน 6 ชุด รวมทั้งเครื่อง AED ใน 4 แบบ รวมจำนวน 30 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายเดือนมกราคม 2563 และจะเสร็จสิ้นประมาณปลายเดือนมีนาคม 2563
“เรามีวิชา “กู้ชีพ กู้ใจ ใครๆ ก็ทำได้” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบออนไลน์ เป็นรายวิชาที่สอนการกู้ชีพขั้นพื้นฐานและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเนื้อหาวิชากล่าวถึงหลักความปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย การกู้ชีพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการใช้เครื่อง AED ได้อย่างถูกต้อง เป็นวิชาที่จะทำให้ใครๆ ก็สามารถให้การช่วยชีวิต หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ เปิดให้ผู้สนใจทั่วไปลงทะเบียนฟรีที่ www.thaimooc.org” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ Mahidol University Emergency Response Team (MUERT) ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย นายสรวิชญ์ วัชรกิจไพศาล ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นนักศึกษาประจำหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ได้เล่าถึงการทำงานของหน่วยว่า มีนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์มาประจำหน่วยหมุนเวียนเปลี่ยนเวรกันตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากสาขาวิชาที่เรียนเกี่ยวกับด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยตรง โดยมีการทำงานกันเป็นระบบ และประสานงานร่วมกับศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งทุกคนในทีมพร้อมที่จะให้การดูแลเบื้องต้นแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ก่อนที่จะมีการส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
หลักการทำ CPR เบื้องต้น เริ่มจากการประเมินผู้ป่วยว่ารู้สึกตัวหรือไม่ ด้วยการปลุกดังๆ และขอความช่วยเหลือ โดยโทร 1669 เพื่อเรียกแพทย์ฉุกเฉิน และขอเครื่อง AED มาใช้กระตุ้นหัวใจผู้ป่วย ระหว่างรอให้กดหน้าอกปั๊มหัวใจผู้ป่วยไปด้วย โดยวางส้นมือ 2 ข้าง ซ้อนกันกลางกระดูกหน้าอก กดลึก 5 – 6 ซม. ด้วยความเร็ว 100 – 120 ครั้ง/นาที ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมช่วยเหลือจะมาถึง ซึ่งการใช้เครื่อง AED ให้ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และทำตามคำแนะนำของเครื่อง โดยระหว่างติดแผ่นนำไฟฟ้า ห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
ซึ่งจากการบอกเล่าของนักศึกษารายหนึ่งที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นจนหมดสติไปในขณะวิ่งออกกำลังที่สนามกีฬา และได้รับการช่วยเหลือจนรอดชีวิตด้วยการทำ CPR ประกอบกับการใช้เครื่อง AED เมื่อประมาณต้นปี 2562 ยืนยันว่า CPR เป็นเรื่องใกล้ตัว อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถึงเเม้จะเป็นผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็สามารถเสี่ยงต่ออาการดังกล่าวได้ ซึ่งการฝึก CPR เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านที่สามารถต่อลมหายใจของใครหลายคนได้จริงๆ
****สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
โทร.0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login