- ปีดับคนดังPosted 8 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
“ทารกเกิดก่อนกำหนด” ดูแลรักษาถูกวิธีพัฒนาการดีสมวัย
คอลัมน์ : โลกสุขภาพ
ผู้เขียน : พญ.สุกัญญา ทักษพันธุ์-พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล โรงพยาบาลกรุงเทพ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 3 มกราคม 2563)
หนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆที่ทำให้เจ้าตัวน้อยต้องเข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit : NICU) คือการคลอดก่อนกำหนด การฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือมีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย
พญ.สุกัญญา ทักษพันธุ์ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่างๆจะครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะบางส่วนอาจไม่ดีเท่าทารกที่ครบกำหนด ซึ่งช่วงหลังคลอดทารกมักต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ ทั้งนี้ ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งพบปัญหารวมถึงภาวะแทรกซ้อนตามมามากกว่า
ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดเกิดได้ทั้งจากมารดาและทารกในครรภ์ ประกอบด้วย ปัจจัยจากมารดา ได้แก่ 1.อายุ แม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป หรือต่ำกว่า 16 ปี 2.แม่มีโรคประจำตัวต่างๆ อาทิ หัวใจ เบาหวาน หรือเป็นโรคในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ 3.เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน 4.มดลูกมีความผิดปกติ เช่น ปากมดลูกสั้น 5.ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ 6.การติดเชื้อ ปัจจัยจากทารก เช่น ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญในทารกเกิดก่อนกำหนดคือ การหายใจ เนื่องจากขาดสารลดแรงตึงผิวที่เคลือบอยู่ในปอด และกล้ามเนื้อในการหายใจยังไม่แข็งแรง ทำให้ทารกไม่สามารถหายใจได้เพียงพอ จึงมักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยรักษาระดับออกซิเจนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อจอประสาทตาและปอดของทารกได้ หัวใจ อาจมีปัญหาเส้นเลือดเกินทำให้มีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวได้ สมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของทารกเกิดก่อนกำหนดค่อนข้างเปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก การทำอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินภาวะเลือดออกในสมองเป็นสิ่งที่จะต้องทำภายในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และก่อนที่จะกลับบ้าน ลำไส้ เนื่องจากลำไส้ยังบอบบาง การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนัก ดังนั้น ในระยะแรกจึงต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดร่วมด้วย เมื่อทารกมีอาการคงที่จึงเริ่มให้นม โดยคุณแม่อาจเข้ามามีบทบาทช่วยได้ในเรื่องของนมแม่ เพราะข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานโรค ลดการเกิดภาวะลำไส้อักเสบ ดวงตา จอประสาทตาของทารกเกิดก่อนกำหนดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงต้องได้รับการตรวจประเมินจอประสาทตาเป็นระยะโดยจักษุแพทย์ การติดเชื้อ ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การล้างมือก่อนสัมผัสทารก ตลอดจนเทคนิคปราศจากเชื้อต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างมาก หู ทารกเกิดก่อนกำหนดจะต้องได้รับการตรวจประเมินการได้ยินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินด้วย
ด้านการรักษา เน้นการวางแผนการรักษาร่วมกันของสูติ-นรีแพทย์และกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด และมีการแจ้งคุณพ่อคุณแม่ถึงขั้นตอนการรักษาตั้งแต่ก่อนคลอดและหลังคลอด โดยหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติจะคอยให้ข้อมูล อธิบายรายละเอียด และให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ ติดตามอาการของทารกอย่างสม่ำเสมอ ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 กรัม มีอาการคงที่ ดูดนมได้ดี จึงจะกลับบ้านได้ โดยจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นจะมีการติดตามอาการเป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ
การวางแผนก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทารกเกิดก่อนกำหนดจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่แรกคลอดโดยแพทย์และพยาบาลที่มีความชำนาญในด้านทารกแรกเกิดโดยเฉพาะเพื่อเฝ้าระวังและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ตลอดจนมีเครื่องมือที่พร้อมในการดูแลทารกแรกเกิดเหล่านี้ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตและเติบโตอย่างสมวัย
ทุกวันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันทารกเกิดก่อนกำหนดโลก (World Prematurity Day) หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ อยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการดูแลทารกตั้งแต่วันแรกที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรงในวันที่ลืมตาดูโลก แต่หากทารกคลอดก่อนกำหนด กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง โดยทำงานร่วมกับสูติ-นรีแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแจ้งรายละเอียดให้คุณพ่อคุณแม่ทราบทุกขั้นตอนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังพร้อมประสานงานอย่างเป็นระบบในการรับและดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการที่สมวัย และเติบโตอย่างงดงาม
You must be logged in to post a comment Login