- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 3 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 1 day ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 4 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 5 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 6 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
ฝึกลูกน้อยให้มีระเบียบวินัย
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2562 – 3 มกราคม 2563)
ระเบียบวินัยเป็นโครงสร้างที่ผู้ใหญ่กำหนดขึ้นเพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เขาสามารถทำได้ อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการควบคุมตนเองภายใต้เงื่อนไขที่จะเลือกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นในสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ระเบียบวินัยสำคัญจริงหรือ
การที่เราจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง และระเบียบวินัยก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพราะถ้าหากเราปลูกฝังให้เด็กมีระเบียบวินัยแล้ว เด็กย่อมเรียนรู้ที่จะเคารพในสิทธิของผู้อื่น ในโลกของความเป็นจริงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย แต่เด็กก็สามารถเรียนรู้ได้จากการกระทำของผู้ใหญ่ และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองว่าสิ่งใดที่ทำลงไปแล้วผู้อื่นจะให้การยอมรับ และเข้าใจได้ในทันทีว่าควรจะปฏิบัติตามหรือไม่ เช่นคำว่า “อย่า” ทำสิ่งนี้ไม่ดี เพราะเคยได้รับคำห้ามจากผู้ใหญ่เกี่ยวกับอันตรายนั้นๆมาก่อน นอกจากนี้ยังเรียนรู้ว่าหากดื้อที่จะทำสิ่งนั้นๆต่อไปก็อาจถูกลงโทษ เด็กส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ใหญ่ควบคุมเขา แต่ไม่ใช่ด้วยการข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง เพราะเด็กอาจจะไม่ให้ความร่วมมือ และเสียสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอีกด้วย
ประโยชน์จากการฝึกวินัย
1.เด็กสามารถแสดงออกภายในขอบเขตที่เหมาะสม
2.เป็นการเรียนรู้สิทธิและความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น
3.เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบหน้าที่ที่ตนได้รับ
4.สามารถควบคุมตนเองได้ดี
ทำอย่างไรเจ้าตัวน้อยจึงจะให้ความร่วมมือในการฝึก
1.ควรมีการสื่อสารกับลูกให้ชัดเจน โดยใช้คำพูดที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับกฎระเบียบของบ้าน ซึ่งสมาชิกในบ้านจะต้องร่วมกันปฏิบัติโดยปราศจากข้อโต้แย้ง เช่น “ลูกทุกคนต้องมาพร้อมกันที่โต๊ะกินข้าวตอน 6 โมงเย็น” “เด็กๆไม่ควรเข้านอนเกิน 3 ทุ่ม” เป็นต้น
2.เรียนรู้ถึงขอบเขตของตนเอง เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดสามารถทำได้และทำไม่ได้ เช่น “ลูกโกรธได้ แต่จะตีน้องไม่ได้ อาจตีหมอนหรือตุ๊กตาแทน” เป็นต้น
3.รู้จักผ่อนคลายความเครียด มีประโยชน์ในการคิดหาทางออกที่เหมาะสม เช่น เมื่อโกรธก็ควรแยกให้อยู่คนเดียวเงียบๆเพื่อสงบสติอารมณ์
4.ฝึกให้ทบทวนการกระทำของตนเอง โดยเขียนบันทึกลงสมุดว่าในแต่ละวันทำอะไรบ้าง เพื่อให้ติดเป็นนิสัยจนเกิดเป็นทักษะ
5.ฝึกให้ใช้การกระทำแทนคำพูดอย่างเดียวด้วยการสัมผัสเพื่อกำหนดพฤติกรรม เช่น “ลูกไม่มีสิทธิไปหยิบอาหารจากจานของผู้อื่น แต่ลูกสามารถหยิบจากจานลูกได้เท่านั้น” พร้อมทั้งดึงมือเด็กกลับมายังจานของตนเอง
6.ฝึกให้รู้จักการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยผู้ปกครองอาจเป็นผู้สมมุติสถานการณ์ต่างๆขึ้นมาเพื่อให้เด็กรู้จักวิธีคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริง
7.ฝึกให้รู้จักทำความดี โดยการให้รางวัลเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี แสดงความชื่นชมทั้งด้วยวาจาและภาษากาย เช่น กอด หอมแก้ม พูดชมเชย เป็นต้น
8.ฝึกให้มีการตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่เด็กสามารถทำได้ตามข้อตกลง เด็กมีสิทธิได้เลือกทำในสิ่งที่ชอบ การฝึกระเบียบวินัยจะได้ผลดีต้องได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ ผู้ปกครองต้องมีความเด็ดขาดในการปฏิบัติตนเพื่อรักษากฎระเบียบ ทั้งน้ำเสียง ท่าทาง และสีหน้า จะต้องสื่อได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ นอกจากนี้ควรปฏิบัติต่อเด็กด้วยการกระทำมากกว่าที่จะใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว และต้องไม่ลืมว่าเด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการรับคำสั่งหรือข้อปฏิบัติแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ปกครองควรคำนึงถึงความสามารถในการรับรู้ประกอบการออกกฎเกณฑ์ด้วย
เด็กทุกคนต้องการการฝึกพัฒนาทักษะและวุฒิภาวะด้านอารมณ์ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถควบคุมอารมณ์ตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม รู้ว่าสิ่งใดควรทำไม่ควรทำ สามารถยอมรับข้อผิดพลาดได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องวางขอบเขตด้วยความมั่นคง สม่ำเสมอ และเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กสามารถซึมซับพฤติกรรมและเลียนแบบบุคลิกของพ่อแม่มาเป็นของตนเองได้ในเวลาต่อมา ฉะนั้นบทบาทของพ่อแม่จึงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการพัฒนาการของลูกในการก้าวไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ
You must be logged in to post a comment Login