วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“หญิงหน่อย” ยก 3 เหตุผลงบปี 63 แก้ปัญหา ศก.ไม่ได้ แค่เยียวยาระยะสั้น

On January 13, 2020

วันนี้ (13 ม.ค. 2563) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan” แสดงความเห็นถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของรัฐบาล มีเนื้อหาดังนี้

“ผ่านไปเรียบร้อยแล้วสำหรับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งดิฉันขอฟันธงว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในปีนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำได้แค่การเยียวยาระยะสั้น แต่จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ค่ะ

1) จัดงบลงทุนในการสร้างรายได้ใหม่ สร้างงานใหม่ไว้น้อยมาก “ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

งบประมาณปีนี้รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลจัดสรรเป็นงบลงทุนเพียง 20% ก็คือประมาณ 600,000 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยิ่งได้เห็นรายละเอียดของงบลงทุนจำนวน 600,000 ล้านบาทนี้ ก็พบว่างบประมาณจำนวนนี้มีภาระผูกพันไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท จึงเหลือที่จะเป็นงบลงทุนใหม่เพียง 300,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนน้อยมากๆที่จะมาลงทุนเพื่อสร้างงานใหม่ สร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชน เทียบกับงบประมาณทั้งหมดจำนวน 3.2 ล้านล้านบาท

2) จัดสรรงบประมาณ “ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก”

ทั้งที่ควรจะทุ่มงบประมาณของทุกกระทรวงมากระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนเป็นลำดับแรกก่อน รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเเละใช้งบประมาณในโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ สร้างงานใหม่ หรือสร้างสินทรัพย์ใหม่ให้กับประชาชน แต่ในข้อเท็จจริงรัฐบาลกลับจัดสรรงบประมาณไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดซื้อในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังแย่แบบนี้ เช่น ในขณะที่ประชาชนในชนบทกำลังลำบากยากจนเพราะราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก แทนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปพัฒนาแหล่งน้ำให้กับประชาชน รวมทั้งการลงทุนให้กับประชาชนปรับเปลี่ยนการผลิต รัฐบาลกลับจัดสรรเงินงบประมาณไป#ซื้อเรือดำน้ำ เพิ่มอีก 2 ลำ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่เกิดภัยแล้งทั่วประเทศ

มันมีความเหมาะสม และมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร? ที่จะต้องมาซื้อเรือดำน้ำในเวลาที่ประเทศและประชาชนกำลังต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้

3) ส่วนงบประมาณที่จัดมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่ละโครงการ “จัดแบบแค่เยียวยาปัญหาระยะสั้น”

ไม่ได้มีโครงการที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริงในจำนวนที่มากพอและตรงจุด เปรียบเสมือนคนป่วยเป็นไข้หนักจนปอดติดเชื้อแล้ว แต่กลับให้เพียงยาทิฟฟี่มาลดไข้

การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในปี 2563 ที่สะเปะสะปะเช่นนี้ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ที่ประชาชนออกมาแสดงพลังกันมากมายนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลเอง ถึงเวลาที่ต้องทบทวนตัวเอง ฟังเสียงประชาชนด้วยค่ะ

#งบประมาณกระจุก ชาวบ้านจนกระจาย”


You must be logged in to post a comment Login