วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล จัดทำเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ บริการประชาชนในพื้นที่ศาลายาแบบเรียลไทม์

On February 3, 2020

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มักมีค่าเกินมาตรฐานในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี แม้ในบางช่วงเวลาสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเฝ้าระวังและช่วยกันลดฝุ่นละอองกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดนิทรรศการ “มหิดลร่วมใจรู้ทันภัยฝุ่นจิ๋ว PM 2.5” ขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากภัยฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรได้ตระหนักถึงผลกระทบและการป้องกันพิษภัยของฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ข้อแนะนำ และแจ้งเตือนนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งแอปพลิเคชัน WeMahidol ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยรายงานผลตามข้อมูลจากเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม (ที่ตั้งสถานี : มหาวิทยาลัยมหิดล) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มใช้งานตั้งแต่ต้นปี 2563 และจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยจะมีกิจกรรมเยี่ยมชมรถตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ พร้อมวิทยากรบรรยายให้ความรู้ในวันดังกล่าวด้วย

ผศ.รท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย กล่าวถึงนักศึกษาด้วยความห่วงใยว่า เป็นปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่จะต้องใช้ชีวิตต่อไปท่ามกลางสถานการณ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน จึงอยากให้เสพข่าวสารโดยใช้วิจารณญาณอย่างมีสติ และศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ ได้ทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยรถตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ ซึ่งใช้วิธีการและเครื่องมือตามที่กฎหมายกำหนด และได้รับการรับรองจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA) จึงได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ข้อมูลคุณภาพอากาศที่มหาวิทยาลัยมหิดลรายงาน ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานและมีความถูกต้องน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพื้นที่ศาลายายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการให้บริการวิชาการและเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนในพื้นที่นี้ได้  คณะฯ ยินดีที่จะถ่ายทอดแนวคิดวิธีการหรือกระบวนการต่างๆ ที่เราทำเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ หรือหน่วยงานใดก็ตามที่มีมาตรฐานแบบเราสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อ.ภัทราวุธ พุสิงห์

สำหรับมาตรการลดฝุ่น  PM 2.5 ที่ใช้ในการร่วมรณรงค์ นายภัทราวุธ พุสิงห์ หนึ่งในคณะทำงานของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มี 4 หลักการด้วยกัน คือ 1. “ตรวจสอบ” เครื่องยนต์ของยานพาหนะ ระบบบำบัดคุณภาพอากาศของโรงงาน และมาตรการลดฝุ่นของโครงการก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดีเสมอ 2. “เปลี่ยนใจ” เดินทางด้วยกันด้วยพาหนะคันเดียว (Car Pool) ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น 3.”ไม่เผา” ไม่เผาในที่โล่ง ทั้งการเผาขยะ การเผาป่า การเผาตอซังหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ 4.”เล่าต่อ” วิธีลด PM 2.5 กับการดูแลสุขภาพ และแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องในการติดตามปริมาณ PM 2.5

ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์

ในส่วนของเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้ร่วมจัดทำกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) ซึ่ง ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์ คณบดี MUICT กล่าวว่า เว็บไซต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีด้าน ICT ช่วยในการเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ และรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน โดยมีการนำเสนอข้อมูลและรายงานคุณภาพอากาศอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ มีวิธีการนำเสนอดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ในรูปแบบภาพ และกราฟต่อเนื่อง การแสดงดัชนีคุณภาพอากาศแบ่งเป็นเฉดสี 5 ระดับ ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ผู้ใช้ทำความเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในพื้นที่ศาลายาว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ และควรปฏิบัติตนอย่างไร

ทีมบริหารโครงการ

นอกจากนี้ มี Link เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณริมถนนซอยนิคมบ้านพักรถไฟธนบุรี 5 เขตบางกอกน้อย และริมถนนพญาไท เขตราชเทวี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนประชาชนในพื้นที่บางกอกน้อย และพื้นที่พญาไทด้วย ติดตามคุณภาพอากาศและปริมาณ PM 2.5 รายชั่วโมง ได้ที่ www.mahidol.ac.th/aqireport

หน้าเว็บไซต์รายงานคุณภาพอากาศ

 

****สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login