- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 3 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 4 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 6 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 2 weeks ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดล ผ่านเกณฑ์ประเมินคุณภาพระดับโลกคว้า 2 รางวัลบริหารสู่ความเป็นเลิศ TQC ปี 62
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศผลรางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี 2562 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินให้เข้ารับรางวัลดังกล่าวในพิธีที่จะจัดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ไบเทค บางนา
TQC เป็นรางวัลที่ให้ความสำคัญกับระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งมีเกณฑ์ที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โลก โดยอ้างอิงจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) เพื่อให้สอดรับกับการนำประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในปีนี้ทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้พิจารณาตัดสินตามเกณฑ์หลัก 7 หมวด ได้แก่ 1) การนำองค์กร 2) กลยุทธ์ 3) ลูกค้า 4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5) บุคลากร 6) การปฏิบัติการ และ 7) ผลลัพธ์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพที่ตอบโจทย์ต่อสังคม ซึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จเกิดจากความตระหนักรู้ว่าเรื่องของคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องดำเนินการไปสู่เป้าหมาย โดยคณะทำงานที่มีความเข้าใจและมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายที่วางไว้ และให้ความต่อเนื่องจนเกิดผลสำเร็จในที่สุด ซึ่งเราทำไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่า สถาบันการศึกษาของเรามีคุณภาพตามเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในผลผลิตที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคุณภาพบัณฑิต ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้มาตรฐานตามที่คาดหวัง
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับ Disruptive Change ในโลกของการจัดการศึกษา ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของมหาวิทยาลัยก็คือ ประเทศชาติ หรือสังคมที่ต้องการคนที่จะไปเติมเต็มในโลกยุคใหม่ และไทยแลนด์ 4.0
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ กล่าวต่อไปว่า จากผลประเมิน มหาวิทยาลัยมหิดลมีจุดเด่นจาก “การรับฟังเสียงจากลูกค้า” ซึ่งได้แก่ นักศึกษา ผู้ใช้ผลงานวิจัย แหล่งทุนวิจัย รวมทั้งผู้ใช้บริการวิชาการในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาคุณภาพที่ตอบโจทย์ประเทศชาติและสังคม ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัล TQC นี้จะเป็นการยืนยันได้ว่า เราใช้ระบบคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิผล และจะมีการนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพที่ยั่งยืน สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงรางวัล TQC ที่คณะฯ ได้รับว่า ผลการประเมินพิจารณาจากการพัฒนาคุณภาพการบริการด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพที่ดี และมีคุณค่าต่อผู้รับบริการ ตามกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ การสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง การสร้างระบบการดูแลผู้ป่วยที่ครบวงจร และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร การมีส่วนร่วมในการสร้างความสมบูรณ์แก่ระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมและนโยบายที่ชี้นำสังคมจากผลงานการวิจัย
จากรางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC) ประจำปี 2562” ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงเพราะได้รางวัล แต่ตอบโจทย์ความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งหวังเพื่อประชาชน และประเทศชาติด้วย
****สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login