- ปีดับคนดังPosted 7 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
นักวิจัยม.มหิดลคว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี2563
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี และ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2531 ปริญญาโท 2 ใบ ใบแรก คือสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (MPH) จาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2535 และใบที่สอง วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (MSc) จาก Swedish University of Agricultural Sciences ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2542 และปริญญาเอกทางด้านจุลชีววิทยาจากสถาบันเดียวกัน เมื่อปี 2543
ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต ได้เปิดเผยถึงผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจ คือ “ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออก” ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2552 โดยร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนวิจัยสนับสนุนจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) และจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมกว่า 70 ล้านบาท โดยได้มีการสร้างห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยแอนติบอดีขึ้นที่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการวิจัยโดยนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยไข้เลือดออกของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มารวมกับเซลล์ Myeloma ชนิดใหม่ แล้วนำมาคัดเลือกหาแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ แล้วนำมาทดลองในเชื้อไวรัสที่ก่อโรคจริงในคน พบว่าสามารถยับยั้งได้ทั้งหมด จากนั้นนำมาทดสอบในหนู และลิงที่ถูกฉีดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก 10 ล้านตัว พบว่าแอนติบอดีสามารถกำจัดไวรัสจนหมด ภายใน 2 วัน
จนเมื่อปี 2561 ได้มีบริษัท BSV Bioscience ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการรวบรวมแอนติบอดีจากนักวิจัยทั่วโลก มาทดสอบในหนูดัดแปลงพันธุกรรม ที่ถูกฉีดไวรัสทิ้งไว้ 1 วัน พบว่าแอนติบอดีจากนักวิจัยไทยให้ผลดีที่สุด โดยสามารถรักษาหนูให้รอดชีวิตได้ 100% ประธานบริษัทจึงมาทำสัญญาลงทุนสู่เชิงพาณิชย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ทำการผลิตระดับอุตสาหกรรม GMP และวางแผนที่จะทดลองกับคนปกติในปี 2564 และกับผู้ป่วยไข้เลือดออกในปีถัดไป ก่อนจะขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) และออกสู่ตลาดในปี 2569
ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต กล่าวว่า สัญญาที่ลงนามร่วมกับ บริษัท BSV Bioscience นั้นเป็นแบบให้สิทธิ (non exclusive) ในประเทศไทย ซึ่งเจ้าของผลงานสามารถนำมาต่อยอดผลิตและลงทุนทางการตลาดเองในประเทศไทยได้ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะสามารถใช้ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออกที่คิดขึ้นนี้ในราคาที่เข้าถึงได้
นอกจากนี้ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีส่วนสร้างโอกาสทางการศึกษาและวิจัยให้กับนักศึกษาปริญญาโท-เอกของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ต่อยอดผลงานทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษาถึงเกือบ 20 ราย
จากผลงานวิจัยดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ส่งผลให้ ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต และคณะได้รับรางวัลผลงานวิจัย และผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จาก วช. ถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2553 ปี 2557 และ 2559 จนมาได้รับรางวัลใหญ่ล่าสุด “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ในปี 2563 นอกจากนี้ ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ มาแล้วกว่า 70 เรื่อง รวมทั้งจดสิทธิบัตร 2 ฉบับคุ้มครองใน 11 ประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนทำงานวิจัยโดยใช้หลัก 3 ประการ คือ “Be” “Do” “Have”
Be เชื่อในภาพฝันที่ยิ่งใหญ่และเป็นภาพเป้าหมายที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก
Do ลงมือทำตามภาพฝันทุกวันด้วยความมุ่งมั่นจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย
Have ในที่สุดเป้าหมายสามารถกลายเป็นจริงได้ดั่งภาพฝัน
***สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login