วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเผยแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชั้นนำมีมาตรฐานสวัสดิภาพไก่อยู่ในระดับต่ำจนน่าตกใจ

On February 11, 2020

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดทำรายงาน The Pecking Order ปี 2020 เปิดเผยผลการดำเนินการพัฒนามาตราฐานสวัสดิภาพไก่จากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลกได้แก่ KFC, McDonald’s และ Burger King พบว่าบริษัทเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐานมาก

นางสาว โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในรายงาน ‘The Pecking Order’ หรือ “การรายงานมาตรฐานสวัสดิภาพไก่” ภายใต้ปี 2020ได้นำเสนอผลอันดับความโปร่งใสในการดำเนินงานธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดว่ามีการสร้างสวัสดิภาพของไก่ในทั่วโลกเป็นอย่างไร  ซึ่งผลสำรวจในรายงานพบว่ามีธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำหลายแห่งมีการดูแลคุณภาพชีวิตไก่อยู่ในระดับต่ำจนเป็นที่น่ากังวล โดยผู้บริโภคไม่ได้รับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงว่า “เนื้อไก่” ที่บริโภคนั้นมีแหล่งที่มาเป็นอย่างไร

จากรายงาน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) องค์กรไม่แสวงผลกำไรระหว่างประเทศ เผยว่า “เนื้อไก่ที่ได้ถูกนำมาเป็นอาหารเพื่อการบริโภคจากบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำเหล่านี้มีการเลี้ยงดูจากฟาร์มไก่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐานและมีชีวิตอยู่อย่างแออัด ไก่เหล่านี้ไม่เคยได้สัมผัสกับแสงแดดจากธรรมชาติ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทรมานจากโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังและขาที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากสภาพพื้นที่แออัดทำให้เกิดการเบียดเสียดแย่งที่อยู่ด้วยกันเอง และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยที่จะแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในการเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่มีคุณภาพอีกด้วย”

S__12763234

ผลสำรวจดังกล่าว ยังพบด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารพิชซ่า และฟาสฟู้ด ชื่อดังหลายแห่ง ที่คนไทยรู้จักกันดี ได้ถูกประเมินให้ได้รับคะแนนต่ำสุด คือ 0 ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เลยแม้แต่น้อย รวมถึง ร้านอาหารประเภทฟาสฟู้ดบางแห่งได้ถูกจัดอันดับ “ยอดแย่” ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการแคมเปญด้านสวัสดิภาพไก่ เปิดเผยด้วยว่า รายงานที่เกิดขึ้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค “ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ ได้มีการเพาะพันธุ์ไก่สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ที่ให้เนื้อหน้าอกในปริมาณมาก และเติบโตไว เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งไก่สายเลือดใหม่เหล่านี้ จะมีรูปร่างที่ผิดเพี้ยนไปจากไก่พันธุ์เดิมๆ โดยมีหน้าอกที่ใหญ่กว่าปกติ ขณะเดียวกัน ขาของไก่ก็จะเล็กลง ทำให้ไก่ ไม่สามารถเดินได้ ขณะเดียวกัน การเลี้ยงในสถานที่แออัด ไม่มีพื้นที่มากเพียงพอให้ไก่ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระตามสัญชาติญาณ ส่งผลให้ไก่ เกิดความเครียด และเกิดโรคระบาดได้ง่าย ทำให้เกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม ต้องใช้ยาปฎิชีวะ รวมถึง สารเคมี มาช่วย ทำให้เกิดมีสารตกค้างอยู่ในตัวไก่ เมื่อผู้บริโภคนำไปบริโภค ก็อาจจะเกิดผลกระทบได้ต่อไป”

S__12763236

นอกจากนี้ จากข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้จัดการแคมเปญสวัสดิภาพไก่ บอกด้วยว่า “ปัจจุบันประเทศในยุโรป ได้มีความตระหนักในผลกระทบของผู้บริโภคแล้ว ทำให้ร้านอาหารฟาสฟู้ด และฟาร์มผู้เพาะเลี้ยงหลายแห่งในประเทศกลุ่มยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีการยอมรับสวัสดิภาพของไก่ ดีมากขึ้น และทำให้มีการสั่งซื้อเนื้อไก่ จากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกให้การยอมรับ ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยเอง ยังไม่ตระหนักในปัญหาเหล่านี้ ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงยังคงมุ่งเน้นการทำงาน ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องให้ร้านฟาสฟู้ด โดยเฉพาะร้านแบรนด์ไก่ทอดชั้นนำ ที่คนไทยชื่นชอบเหล่านี้ ออกมาร่วมมีส่วนรับผิดชอบในการออกนโยบาย และเปิดเผยข้อมูลการจัดหาวัตถุดิบที่มีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่อผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลว่า ไก่ที่กำลังบริโภคเหล่านี้ มีแหล่งที่มาอย่างไร อันจะนำมาสู่ความปลอดภัยทางด้านอาหารของผู้บริโภคต่อไป”

S__12763239

อย่างไรก็ดี ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย คาดหวังว่า ภายในปี 2020 นี้ แคมเปญสวัสดิภาพไก่ จะประสบความสำเร็จ และทำให้ผู้ประกอบการด้านร้านอาหาร รวมถึงฟาร์มเพาะเลี้ยงไก่ หันมาตระหนักถึงสวัสดิภาพของสัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัย ต่อไป

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ : www.worldanimalprotection.org หรือ ร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ https://www.worldanimalprotection.or.th/change-for-chickens และสามารถอ่านรายงานเพิ่มเติม ได้ที่ https://www.worldanimalprotection.or.th/pecking-order-2020


You must be logged in to post a comment Login