วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“วิศวฯจุฬาฯ”ผนึกพลังภาครัฐและเอกชนนำร่องติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล

On February 13, 2020

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมไทยอีกครั้ง ต่อยอดการพัฒนาโครงการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ปีที่ 2 ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม, สภาวิศวกร, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู     คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจับมือ กสท โทรคมนาคมดำเนินการโครงการในปีแรกประสบความ สำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย มั่นใจสามารถนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาวิจัย วิเคราะห์หาสาเหตุ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในไทย หลังเริ่มทวีความรุนแรงถึงขั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ENG_4920

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ (เปิดโลกลานเกียร์) หลอมรวมศาสตร์และนวัตกรรมด้านวิศวกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีเยี่ยมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งที่ประเทศไทยและคนไทยต้องเผชิญภาวะวิกฤติ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ด้วยเหตุดังกล่าว คณะวิศวฯ จุฬาฯ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ที่เริ่มดำเนินการแล้วในปีที่ผ่านมา และมีประสิทธิภาพในการตรวจวัดสภาพอากาศและจัดเก็บข้อมูลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นประโยชน์อยากมากในการศึกษาวิจัยเพื่อหาต้นตอสาเหตุปัญหา จึงได้เริ่มโครงการในระยะที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อขยายการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์คอยให้คำแนะนำ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนไทย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย แบบไร้ขีดจำกัด

ENG_4925

“คณะวิศวฯ จุฬาฯ จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศ นำมาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย ผนึกพลังพันธมิตรเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเซนเซอร์เพิ่มศักยภาพโครงการ วิเคราะห์ถึงผลกระทบ เสนอแนะแนวทางแก้ไข และพร้อมที่จะส่งมอบองค์ความรู้ต่างๆ แก่ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์แก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องการนำองค์ความรู้ที่ได้มามอบให้แก่คนไทยเพื่อนำประโยชน์ดังกล่าวไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ สอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินงานของคณะฯ CHULA INNOVATION ENGINEERING” ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าว

ENG_4943

ทั้งนี้ เซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ที่พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวฯ จุฬาฯ สามารถตรวจวัดได้ทั้งฝุ่น PM 2.5, PM 10, อุณหภูมิ และความชื้น พร้อมทั้งคำนวณค่า AQI และแสดงผลผ่านทั้งหน้าจอเซนเซอร์และเว็บไซต์ www.sensorforall.eng.chula.ac.th เพื่อบ่งบอกระดับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยความร่วมมือในโครงการนี้ จะมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะแรกจำนวน 30 จุด และพร้อมเปิดรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการร่วมเป็นเครือข่ายในการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อหาแนวทางจัดการมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยข้อมูลจากเซนเซอร์ทุกจุดจะถูกนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลจุดความร้อน (Hot Spot) ข้อมูลการจราจร รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 และนำเสนอนโยบายสำหรับแก้ไขปัญหา PM 2.5 และร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ENG_4986

ด้านศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวนโยบายของคณะฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทยว่า “ที่ผ่านมา คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในโครงการ CHULA MOOC รายวิชาเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา What (Love) is in the air ขึ้น เพื่อรวมข้อมูลความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างหลากหลาย  และแน่นอนว่าข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก็ถูกบรรจุอยู่ด้วยเช่นกัน ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาค้นคว้าศึกษาได้ด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อรายงานสภาพอากาศในแต่ละจุดที่ติดตั้งเซนเซอร์ โดยสามารถเข้าไปชมข้อมูลได้ที่  www.sensorforall.eng.chula.ac.th การสร้างการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น จะช่วยให้คนไทยสามารถเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ENG_4892

 


You must be logged in to post a comment Login