วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล จัดโครงการ MAP เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีพของประชาชน

On March 9, 2020

ปัจจุบันพบว่า ปัจจัยทุกด้านของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีการปรับเปลี่ยนเร็วมาก ประชาชนต้องการความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมากขึ้น การจัดการศึกษาตลอดชีพจึงเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับทุกสถาบันการศึกษาซึ่งการเรียนปริญญาตรี โท เอก ตามหลักสูตรปกติอาจไม่เพียงพอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิชิต สุธรรมารักษ์ ผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายการตลาดดิจิทัล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโครงการ Mahidol Apprenticeship Program (MAP)ว่าเป็นโครงการเรียนรู้ตลอดชีพ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นการเปิดรายวิชาที่สอนในหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก ของหลักสูตรที่มีในมหาวิทยาลัยมหิดล ให้กับบุคคลภายนอกได้เข้ามาเรียน โดยแบ่งออกเป็น 3  หลักสูตร คือ หลักสูตรMAP_C (Mahidol Apprenticeship Program Curriculum)ซึ่งสามารถนำรายวิชามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ หลักสูตร MAP_EX (Mahidol Apprenticeship Program)ซึ่งเป็นคอร์สอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่จบแล้วได้ใบรับรองการจบหลักสูตรจากส่วนงานที่จัดอบรม แต่ไม่สามารถโอนเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ และ MAP_O (MAP Online)ซึ่งก็คือ Map_Cกับ MAP_EX ในรูปแบบออนไลน์ที่สามารถเรียนได้ทุกวิชา กำหนดเปิดสอนภายในปี 2563 นี้

b1

ดร.ฉกรรจ์ พราหมณ์แก้ว วิทยากรอบรมหลักสูตร”Blockchain Technology to Drive Business Disruption with Fintech Essentials (IT675)” ซึ่งเป็นหลักสูตรหนึ่งใน MAP-EX ที่จัดโดย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล (MUICT) เปิดเผยว่า ในโลกเสมือนจริง  หรือโลกออนไลน์ ที่ติดต่อกันโดยไม่เห็นหน้า ปัจจุบันพบว่า “Trust”หรือคนกลางในการทำธุรกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก Blockchainได้เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2551 ในต่างประเทศ ที่ผู้ทำธุรกรรมเริ่มไม่ไว้วางใจสถาบันการเงิน เนื่องจากอยู่ในสภาวะใกล้ล้มละลายโดยเทคโนโลยีBlockchain เป็นระบบ “Trust Without Trust” ที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางคนใดคนหนึ่งมาทำหน้าที่นี้ แต่ทุกคนใน community สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ โดยเชื่อถือในโปรโตคอลและคณิตศาสตร์เบื้องหลังซึ่งนอกจากจะใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกรรมประกัน แชร์ข้อมูลผู้ป่วย และอื่นๆ ได้อีกด้วย

เนื้อหาการอบรมประกอบด้วยการทำความเข้าใจปัจจัยพื้นฐานของ Blockchainซึ่งจะมีผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง และไม่ถูกหลอก ทำให้เกิด Trust กันต่อไปได้อีก นอกจากนี้ จะมีการพูดถึงด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง มีพัฒนาการอย่างไร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนมีการแนะนำแอปพลิเคชันต่างๆ ที่มีการใช้Blockchainว่ามีอะไรบ้าง และแอปไหนเหมาะสำหรับคนไทย เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ MAP ได้ที่ งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์การ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2441-4125 ต่อ 131 – 132 https://graduate.mahidol.ac.th/MAP/about-map.php

 

***สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร.0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login