วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

TBCSD ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ขานรับมาตรการงดเผาในพื้นที่เกษตร ลดหมอกควัน

On March 17, 2020

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองและอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะยกระดับความสำคัญของปัญหา PM2.5 ให้เป็นวาระระดับชาติ แต่ในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างออกไป ขณะที่แหล่งกำเนิดที่สำคัญในการระบายฝุ่น PM2.5 มาจากหลายกิจกรรม ทั้งการจราจรขนส่งทางบก การเผาชีวมวลประเภทต่าง ๆ ในที่โล่ง ทั้งเศษวัสดุทางการเกษตร และขยะ  โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาร่วมด้วยช่วยกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand  Business Council for Sustainable Development :TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้จัดงานเสวนา “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้ง นำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะต่อระดับนโยบายต่อไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่อง PM2.5 ปัจจุบันได้ยกระดับกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ที่ต้องมีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยทุกภาคส่วน เนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศในวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาจึงต้องพิจารณาข้อมูลและหลักฐานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ และที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน โดย TBCSD ก่อตั้งมาเกือบ 30 ปีแล้ว และมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เป็นสำนักเลขาธิการ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน TBCSD ได้สั่งสมประสบการณ์และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา TBCSD ได้ประกาศแนวทางการขับเคลื่อน TBCSD ในก้าวต่อไป ภายใต้ TBCSD New Chapter ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนครั้งสำคัญในการรวมพลังกันของธุรกิจชั้นแนวหน้าในประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นเพื่อ “ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน” ปัจจุบัน TBCSD มีองค์กรสมาชิกจากกลุ่มธุรกิจหลักของประเทศกว่า 40 องค์กร จากการร่วมพลังความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจไทย TBCSD จะดำเนินการขับเคลื่อนงานไปยังประเด็นกรณี PM2.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องใช้พลังความร่วมมือ ในการรวบรวมองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปรับระบบการทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา โดยต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการดำเนินงานร่วมกัน จึงได้มีการหารือกันทั้งภายในสมาชิกเอง กับองค์กรพันธมิตรและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางที่เป็นไปได้ในการป้องกันปัญหา แก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของปัญหาในด้านต่างๆ อันนำมาสู่บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

“ปัญหา PM2.5 จะยังอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และต้องมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง     ต้องมีการตั้งเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะตอนที่มีปัญหาเกิดขึ้น และหยุดตอนที่ปัญหาหมดไป ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าสาเหตุหลักของปัญหา PM2.5 ว่าเกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล เกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นหลัก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่อง และต้องมองให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน” นายประเสริฐ กล่าว

2

นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้มีการเริ่มดำเนินการโครงการนำร่องมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือที่ประสบปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรง 10 จังหวัด จนถึงในปี 2562 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปสู่จังหวัดที่มีการเผาสูง อีก 16 จังหวัด และในปีนี้ (2563) ได้แต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา และการดำเนินการในพื้นที่ ใช้กลไกการดำเนินงานของจังหวัดผ่านคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (CoO) และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาการเกษตรระดับอำเภอ (OT) จัดทำแผน/มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังระดับจังหวัด จัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังการเผา ในระดับอำเภอ ดำเนินการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” มุ่งเน้นที่พื้นที่เปราะบางมาก จำนวน 115,482 ไร่ ใน 35 จังหวัด แบ่งเป็น ข้าว 29,920 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3,779 ไร่ และอ้อยโรงงาน 81,783 โดยเฉพาะในส่วนของอ้อยโรงงาน ได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ให้กำหนดมาตรการให้โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยสดแทนอ้อยเผา รวมถึง การบรรเทาสถานการณ์ให้เบาลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18 หน่วยปฏิบัติการในทุกภาค เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการบรรเทาทั้งปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้น และ 4. ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยความร่วมมือจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ได้จัดโครงการ Green City by MOAC  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ โดยการจัดหาต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการดักฝุ่น เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนได้ร่วมกันปลูกตามที่ต่างๆ ดำเนินการในพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด โดยในระยะแรกจะเริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานครและขยายผลในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ได้แจกจ่ายต้นไม้ให้แก่ประชาชนไปแล้ว 194,500 ต้น

3

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ารัฐบาลมีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นไปอย่างบูรณาการ มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และ มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พร้อมกันนี้ ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพาอากาศและสร้างการรับรู้ ผ่านทางสื่อโซเชียล วิทยุ โทรทัศน์ แอพพลิเคชั่น ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง และจะขยายเครือข่ายตรวจวัด PM2.5 ให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญภายในปี 2564 และจะพิจารณาปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก (37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ภายในปี 2564 รวมถึงเร่งพัฒนาระบบพยากรณ์สถานการณ์มลพิษทางอากาศเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการดูแลสุขภาพและบรรเทาผลกระทบ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกหน่วยงาน ได้เร่งรัด ผลักดัน และเข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

4

ปิดท้ายกันที่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่าแนวทางความร่วมมือของสมาชิก TBCSD เพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นผ่านมาตราการ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) มาตรการที่สมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ 2) มาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ (ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม) และ 3) การสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป (เพื่อสร้างแนวร่วมในการแก้ไขปัญหา) ดังนี้ มาตรการที่ดำเนินการเองโดยสมัครใจ สมาชิก TBCSD ดำเนินการตรวจเช็คสภาพรถและเครื่องยนต์อยู่เสมอ (Engine Efficiency) การบรรทุกและขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Loading Efficiency) และการมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ (Driving Behavior) ในส่วนของมาตรการที่ขอความร่วมมือจากสมาชิกในช่วงวิกฤติ สมาชิก TBCSD เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based (น้ำมัน B ต่าง ๆ) หรือ ก๊าซธรรมชาติ (CNG) หรือน้ำมันที่มีสารกำมะถันต่ำ (ไม่เกิน 10 ppm) หรือ ตามมาตรฐาน Euro 5 เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า ลดการนำรถบรรทุกดีเซลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ลดการใช้รถใช้ถนน และส่งเสริมการทำเกษตรที่ไม่เผาชีวมวล ในส่วนของการสร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไป สร้างการรับรู้ถึงปัญหา ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 และวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกและใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลถึงคนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นธุรกิจชั้นนำของประเทศเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยังได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบในทุกด้านทั้งในช่วงวิกฤตและในระยะยาว

5

ในส่วนของ TBCSD ได้รวบรวมข้อเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 2. สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อย PM2.5 3. เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 4. ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 5. พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และ 6.การสื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ พร้อมสร้างแนวร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป อันนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการจัดการ PM2.5 ของประเทศต่อไป

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อประเทศในวงกว้าง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมวางแผนและกำหนดแนวทางหรือมาตรการที่เข้มงวดเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม


You must be logged in to post a comment Login