- ปีดับคนดังPosted 10 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดล สร้างสรรค์แอปพลิเคชัน “เสียงยิ้ม” และ “ความจำ&ความสุข” สู้วิกฤต COVID-19
นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในไทย จนปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงหลักร้อย ท่ามกลางความตื่นความตระหนก “สติ” เท่านั้นคือสิ่งเดียวที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนให้พวกเรา “ยิ้มสู้” ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร ธรรมชาติของโรคระบาด จะมีทั้งขาขึ้น และขาลง ตอนเราลง ถ้าเรามี “สติ” รู้เท่าทันว่าจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไรด้วยความ “สงบ” ซึ่งสงบในที่นี้คือ “การคิดบวก” และการมี “อารมณ์ที่มั่นคง” รวมทั้งมีการสื่อสารที่ดี จากการ “คิดดี พูดดี ทำดี” จะทำให้เรามีภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ
“ความยืดหยุ่น” และ “การปรับตัว” เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญประการแรกๆ ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกวัน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนบททดสอบว่าเรามีพร้อมเพียงใดที่จะเผชิญโลกต่อไปข้างหน้า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าวว่า ผู้ที่คิดยืดหยุ่นจะช่วยให้ตัวเองและคนรอบข้างสามารถผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ ที่สำคัญคือต้องฝึกพูดบวกกับตัวเองบ่อยๆ เช่น ขอบคุณโควิดที่ทำให้เราได้กลับมาดูแลตัวเอง และไม่ประมาท ตลอดจนได้เรียนรู้จาก Self Isolation หรือ การมีระยะห่างที่แสดงถึงความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งผู้ที่คิดยืดหยุ่นจะสามารถวางแผนได้เลยว่า ในช่วงกักกันโรค 14 วันจะอยู่อย่างมีสติได้อย่างไร
“ระยะห่างระหว่างกันในช่วงนี้ที่ปลอดภัยคือ 6 ฟุต ซึ่งก็คือ ระยะมากกว่าหนึ่งช่วงแขนของเรา เพื่อจะได้มีพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกาย ทำสมาธิ และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งความกลัว ความเศร้า ความเหงา และความโกรธ มีได้กับทุกคน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะต้องฝึกจิตใจให้มั่นคงมากพอที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ ด้วยการหากิจกรรมดีๆ ที่สามารถทำได้ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หัตถกรรม ดนตรี ทำอาหาร ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ และเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ โดยไม่ขาดการสื่อสารที่แสดงถึงความเอื้ออาทรต่อครอบครัว และคนรอบข้างอยู่เสมอ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าว
นอกจากนี้ หากสมองได้รับการบำรุงที่ดี จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้ดีด้วย ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ให้คำแนะนำในภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ว่า ให้กินอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยกินผักและผลไม้ให้ได้วันละ 500 กรัม ลดอาหารหวาน เค็ม มัน หันมากินปลาและถั่วเมล็ดแห้งซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี รวมทั้งโยเกิร์ตที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานของลำไส้และระบบภูมิต้านทานทั่วไป นอกจากนี้ ควรกินอาหารที่มีเครื่องเทศ และสมุนไพร ได้แก่ กระเทียม หัวหอม ขิง ข่า ขมิ้นชัน หรือพืชตระกูลขมิ้น ซึ่งอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีที่ต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อสู้โรคได้
“ฮอร์โมนแห่งความสุขเกิดขึ้นได้ หากเราใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ได้ลงมือทำ และเกิดความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด ได้จัดทำแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดได้ทางมือถือชื่อว่า “Smiley Sound” ฟัง “เสียงยิ้ม” ที่เป็นดนตรีและเสียงที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย หายกลัว-เศร้า-เหงา-โกรธ และช่วยให้นอนหลับ โดยให้ใช้หูฟังแบบออกกำลังกายที่ไว้ตรงกกหูฟังนาน 7 นาที ต่อเนื่องกัน 4 วัน จากนั้นให้เข้าไปวัดผล “ความจำ&ความสุข” กับอีกแอปพลิเคชันที่ชื่อ “Brainy2Blessly” จะทำให้เรา “ยิ้มสู้” ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้ในที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง กล่าวทิ้งท้าย
****สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login