วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อธิการบดี ม.มหิดล ให้ความเชื่อมั่นพร้อมสู้วิกฤต Covid-19

On April 10, 2020

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ที่ไวรัส Covid-19 เริ่มต้นแพร่ระบาด จนขยายวงกว้างไปถึงกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ตัวเลขผู้ป่วยสะสมจากไวรัส Covid-19 สูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีผู้ใดคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าการระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ ถือเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าวด้วยความเสียสละ และเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่อยู่เบื้องหลังการเก็บและตรวจสารคัดหลั่ง ต่างต้องทำงานหนักบนความเสี่ยง และความกดดัน บางรายต้องทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลผู้ป่วย

มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมรับมือสถานการณ์โรค Covid-19 ทั้งด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยเรามีคณะแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขในการดูแลคนไทย โดยได้มีการเตรียมพร้อมทั้งในด้านกำลังคน แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยจำนวนมากเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดเตรียมรองรับการคัดกรอง และดูแลผู้ป่วย Covid-19  ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนถึงรุนแรง และได้มีการขยายพื้นที่ไปยัง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อรองรับผู้ป่วย Covid-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการจัดโซนดูแลรักษาเป็นการเฉพาะ มีคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจครบวงจร ตั้งแต่การตรวจ จ่ายยา เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ หอผู้ป่วยเฉพาะโรค ตลอดจนห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยหนัก และที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ได้มีการริเริ่มใช้ ๔ หุ่นยนต์ “พอดี คิดดี ทำดี อารี” ในการทำความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากรต่อการติดเชื้อ Covid-19 อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และห้องปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคนานาชาติ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ยังได้เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัส Covid-19 ให้แก่ ห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลต่างๆ วันละ 2 รอบ ด้วยเทคนิค Real – Time RT-PCR ซึ่งผ่านการทดสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว โดยจะแจ้งผลการตรวจกลับไปยังสถานพยาบาลที่มาใช้บริการภายใน 24 ชั่วโมง

ในส่วนของนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการสื่อสารเป็นอันดับแรก โดยเรามีแอปพลิเคชัน We Mahidol ที่คอยป้อนข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งรวมถึงคำสั่ง ข้อบังคับ ประกาศที่จำเป็น นอกจากนี้ มีการป้องกันการแพร่เชื้อของโรค ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ ทั้งในห้องเรียน ห้องทำงาน และสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ร่วมด้วยการรณรงค์ให้มีการล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการชุมนุม เลื่อนการจัดกิจกรรมต่างๆ และให้บุคลากรได้ Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดต่อโรค โดยใช้ระบบ Webex สำหรับให้นักศึกษาได้เรียนออนไลน์ และให้บุคลากรได้ประชุมทางไกลจากที่บ้าน และยังได้ผลักดันให้นักศึกษาและบุคลากรทุกคน รวมถึงคนที่มีความพิการ สามารถเข้าถึงสิทธิในการทำ “ประกันโควิด” ได้อย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย

3

“ช่วงวิกฤต Covid-19 นี้ ขอส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ทำงาน “ปิดทองหลังพระ” เสมอมา และขอให้ประชาชนชาวไทยผ่านความยากลำบากครั้งนี้ด้วยความมีสติ ไม่ประมาท ไม่ตระหนกเกินเหตุ รับรู้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ ตลอดจนดูแลสุขภาพ และร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดเพื่อชาติ มาตรการใดๆ ก็ไม่อาจบรรลุได้ หากคนในสังคมไม่เข้าใจ ไม่ตระหนัก และไม่ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง นอกจากนี้ ด้วยพลังของชุมชนที่เข้มแข็งจะทำให้เราผ่านวิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ไปได้ในที่สุด” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย

4

***สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม

นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป

สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร.0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login