วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

“อนุสรณ์”ฝาก20มหาเศรษฐีหารือ“ประยุทธ์”11ข้อ

On April 19, 2020

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีและประชาชนชาวไทยผ่านทางสื่อมวลชนเพื่อให้พวกเราประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์วิกฤติในปัจจุบันและในอนาคต และ เรียนเสนอแนวทาง ข้อสังเกตและข้อเรียกร้องต่อท่าน 20 มหาเศรษฐีที่ได้รับสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ในการพบกับนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมแก้ปัญหาวิกฤติ Covid-19 ตามรายละเอียดดังนี้

ที่ บ้านพิทักษ์ธรรม เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ

11.30 น. วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563

 

กราบเรียน ท่านมหาเศรษฐี 20 ท่าน และ ประชาชนชาวไทย

ผมมีข้อเรียกร้องต่อท่านมหาเศรษฐี 20 ท่านที่มีโอกาสอันดีในการพบนายกรัฐมนตรีเนื่องจากได้รับเชิญให้ไปหารือกรณีพิเศษ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรา กิจการและธุรกิจของท่าน และ ประชาชนชาวไทย ข้อเสนอและข้อเรียกร้องมีดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง ขอให้ท่านมหาเศรษฐีขอร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหยุดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปีและปรับลดการเกณฑ์ทหารลงมาให้สอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ซึ่งจะได้เงินไม่ตํ่ากว่า 100,000-200,000 ล้านบาทเพื่อให้นำเงินงบประมาณเหล่านี้โอนย้ายมาดูแลความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน สนับสนุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม เพราะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะยาวนานและเป็นภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าทั่วโลก หากผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมล่มสลายลง ท่านย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยในที่สุด

ข้อที่สอง ขอให้ท่านมหาเศรษฐีขอให้ รัฐบาล ช่วยกำกับดูแลการรั่วไหลของการใช้จ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะมีงบประมาณเหลืออีกปีละไม่ตํ่ากว่า 300,000-400,000 ล้านบาทเพื่อนำไปจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานของครัวเรือนจำนวนมากที่พ่อแม่ต้องว่างงานในช่วงนี้ โดยสามารถจัดสรรงบผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ และ สามารถนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุงให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นพร้อมกับลงทุนทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

ข้อที่สาม ขอให้ท่านมหาเศรษฐีได้ขอร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนการใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เนื่องจากหลายประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ เป็นต้น ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินก็สามารถจัดการการแพร่ระบาดได้ และขอให้รัฐบาลกำกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรมจากประชาชน โดยก่อนที่จะมีการยกเลิกล็อคดาวน์บางส่วนและยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อให้กิจกรรทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปรกติ ขอให้ท่านมหาเศรษฐีแจ้งให้รัฐบาลได้สร้างความเชื่อมั่นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกสองด้วยการทำการสุ่มตรวจทั่วประเทศเช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมันและอิสราเอลได้ดำเนินการทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีโดยไม่ต้องสั่งปิดเมืองอีก หากท่านนายกรัฐมนตรีบอกรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ท่านมหาเศรษฐีก็ช่วยกันลงขันบริจาคเพื่อการนี้ เมื่อบวกเข้ากับการเร่งรัดในการชดเชยการเสียหายทางแพ่งจากคดีทุจริตต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประเทศของเราจะมีเงินงบประมาณมากเพียงพอในการนำมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว (จัดซื้ออุปกรณ์ตรวจ covid-19 และสุ่มตรวจตามหลักสถิติ) เพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน (Public Safety) โดยละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการของธุรกิจให้น้อยที่สุด

ข้อที่สี่ ขอให้ท่านมหาเศรษฐีขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้า คสช. รวมทั้ง รัฐมนตรีท่านอื่นๆที่เคยเป็นทั้งรัฐมนตรี และ สมาชิก คสช. ได้คืนเงินภาษีประชาชนมาตั้งเป็น กองทุน คสช. เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ถูกละเมิดด้วยมาตรา 44 รวมทั้งนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย บุคคลเหล่านี้และครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมากทางเศรษฐกิจก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรค Covid-10 อยู่แล้ว หากย้อนกลับไปเมื่อห้าหกปีที่แล้ว ท่านทั้งหลายในฐานะคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ดี ในฐานะสมาชิก คสช ก็ดี ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ซึ่งต่อมาบางท่านมาเป็นสมาชิกวุฒสภาต่อ) ก็ตามได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนจากภาษีประชาชนหลายทาง ควรเสียสละร่วมกับท่านมหาเศรษฐีทั้งหลายซึ่งก็ได้บริจาคเงินจำนวนไม่น้อยให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ถือว่าเป็นการร่วมฝ่าวิกฤติไปด้วยกันอย่างแท้จริงและยังเป็นส่งสัญญาณในสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริงอีกด้วย โดยเฉพาะบางท่านอย่าง ท่านธนินท์ เจียรวนนท์และคณะบริหาร ได้สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้กับประชาชนและยังเป็นแบบอย่างของโรงงานปลอดเชื้อรวมทั้งใช้ AI และ ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติทำงานซึ่งเป็นวิถีการผลิตแห่งอนาคต ขณะที่คนในรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการกักตุนหน้าการอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

ข้อที่ห้า ขอฝากประเด็นไปยังมหาเศรษฐีที่เป็นเจ้าของธุรกิจการเงินและสถาบันการเงิน กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ฝากให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ช่วยแนะนำธนาคารแห่งประเทศไทยว่า นอกจากจะต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน (Financial stability) เป็นหน้าที่หลักแล้ว ก็ต้องไม่ละเลยต่อการดูแลเศรษฐกิจภาคประชาชนและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย การที่ธนาคารกลางบางประเทศแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินด้วยการซื้อตราสารหนี้เอกชน อาจก่อให้เกิดการแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะครั้งใหญ่ ก่อให้เกิดภาระต่อประชาชนโดยทั่วไปและคนที่แบกภาระมากที่สุด คือ ประชาชนผู้เสียภาษีโดยเฉพาะชนชั้นกลาง และ ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กที่เป็นคู่ค้ากับท่านมหาเศรษฐีทั้งหลาย ขอให้ท่านมหาเศรษฐีพิจารณาดูว่า หากรัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการออก พ.ร.ก. ซื้อตราสารหนี้เอกชนสี่แสนล้านบาทโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ มาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินจากผลกระทบ Covid19 แทน การออกเป็นพระราชบัญญัติมาตรการทางการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดการเงินผ่านรัฐสภาจะได้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและทำให้เกิดความรอบคอบ การจัดตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้เอกชนมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการคอร์รัปชั่นทางนโยบายได้หากไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ตนเข้าใจความวิตกกังวลของรัฐบาลและผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยบางท่านว่ามีความสุจริตใจ การแสดงความห่วงใย ต่อ ปัญหาผลกระทบของโรค Covid19 ที่ทำให้ตลาดการเงิน (ตราสารหนี้ กองทุนรวมและตลาดหุ้น) ทรุดตัวลง อย่างไม่มีวาระซ้อนเร้น นับว่าเป็นเรื่องโชคดีของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ หวังว่าจะไม่ใช่เป็นการห่วงใยที่มีลักษณะ พลิกวิกฤติของประเทศ เป็น โอกาสของผู้มีอำนาจ ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและเครือข่ายจากการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งเกิดขึ้นหลายๆครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมเชื่อมั่นว่า ท่านมหาเศรษฐี 20 ท่านจะมีกล้าหาญในการปฏิเสธความช่วยเหลือใดๆที่อาจจะละเมิดต่อหลักการและนำมาสู่ปัญหาความยุ่งยากต่อระบบการเงินและความไม่เป็นธรรมในอนาคต เป็นการเอื้อประโยชน์กันบนต้นทุนของคนส่วนใหญ่และธุรกิจอื่นๆที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐ หากท่านช่วยเหลือสังคมด้วยการไม่เลิกจ้างผู้ใช้แรงงานก็เป็นเรื่องของผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและต่อผู้ที่ทำงานให้กับกิจการของท่านอยู่แล้ว รัฐบาลได้ช่วยลดค่านํ้า ค่าไฟ ลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างแล้ว การช่วยเหลือกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจรัฐโดยไม่เป็นธรรมกับกลุ่มทุนอื่นๆจะต้องไม่เกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนทั้งประเทศประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ กรณีการกักตุนหน้ากากอนามัยและสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพที่มีความพัวพันกับผู้มีอำนาจก็เป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่ การเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดของแบงก์ชาติด้วยการซื้อตราสารหนี้เอกชนสามารถทำได้หากเกรงว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อระบบของประเทศโดยรวม เป็น Systematic risk โดยต้องมีกลไกแยกแยะบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ไม่ได้ลงทุนหรือกู้เงินเกินตัวเพียงหาเงินทุนมาไถ่ถอนหนี้ไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้หรือเป็นผลจากมาตรการสั่งปิดกิจการของรัฐ การที่รัฐบาลเอา “เงินสาธารณะ” มารับความเสี่ยงไว้เองเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนและระบบนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่ ตนอยากถามและฝากไปถึงคณะกรรมการแบงก์ชาติและผู้บริหารดังต่อไปนี้ คือ คำถามแรก คือ ท่านจะมีระบบหรือกลไกอย่างไรในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ท่านจะป้องปรามการตัดสินใจที่อาจมีผลประโยชน์อันมิชอบแอบแฝง จากการแปลง “หนี้เอกชน” และ แปลง “การขาดทุน” ของนักลงทุน มาเป็น ภาระต่อประชาชนและประเทศชาติในอนาคตอย่างไม่เป็นธรรม ได้อย่างไร เรามี ปัญหาหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินซึ่งจนกระทั่งวันนี้ ผ่านมาเกือบ 23 ปีแล้วยังชำระหนี้ไม่หมด การมีระบบและกลไกที่ดีและมีธรรมาภิบาลจะช่วยลดปัญหา Moral Hazard (จริยวิบัติ) หรือ พฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากประสิทธิภาพที่ควรจะเป็นในระบบการเงินซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยและอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติหลายท่านวิตกกังวล คำถามข้อที่สอง คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและผู้บริหารแบงก์ชาติ เสนอ พ.ร.ก. ซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยกังวลผลกระทบที่มีต่อระบบการเงินเองหรือมีใครสั่งให้ทำ หากเป็นคำสั่งของผู้อำนาจรัฐ ท่านต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมทวนคำสั่งว่า ผู้มีอำนาจรัฐทำผิดกฎหมายหรือไม่ การออก พ.ร.ก. ก็เป็นวิธีหนึ่งในการทำสิ่งที่ไม่ค่อยถูกต้องในหลักการนักให้ถูกกฎหมายโดยเห็นว่ามีความจำเป็นบางประการ หากท่านทั้งหลายต้องถูกปลดจากการทำหน้าที่ก็ควรภาคภูมิใจว่าได้ทำ

หน้า แบงก์ชาติมีหน้าที่เป็นธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ไม่มีหน้าที่รับความเสี่ยงจากตลาดสินเชื่อด้วยตัวเอง ควรให้รัฐบาล บริษัทผู้เกี่ยวข้อง ธนาคารพาณิชย์ ร่วมกันศึกษาปัญหาตราสารหนี้และตลาดการเงินทั้งระบบว่าจะรับมืออย่างไรหากต้องปิดกิจการและใช้ พ.ร.ก.. ฉุกเฉินไปนานกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาการขาดทุนจากการลงทุนในตลาดการเงินเป็นเรื่องที่นักลงทุนและธุรกิจต้องรับผิดชอบกันเองก่อน ด้วยให้กลไกราคาสะท้อนราคาตราสารหนี้ที่แท้จริง มีธนาคารพาณิชย์รับซื้อได้ แล้วมาขายต่อให้ธปท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้รายสุดท้าย (Lenders of the last resort) การใช้วิธีการจัดตั้ง กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินรวมทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาทเพื่อเข้าซื้อตราสารหนี้โดยตรงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและมีความเสี่ยงสูงต่อระบบการเงินในอนาคต แม้ตราสารหนี้จะออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีก็ตาม อาจจะทำให้เกิดต้นทุนและการขาดทุนจำนวนมากต่อเงินสาธารณะหากสถานการณ์ไม่เป็นอย่างคาดการณ์ ควรซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปล่อยเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมเป็นหลัก

ข้อที่หก การใช้มาตรการการเงินแบบกองทุนสี่แสนล้านบาทนี้ เป็นการแปลงหนี้เอกชนให้กลายเป็นหนี้สาธารณะในที่สุด (หากขาดทุน) เป็นการเพิ่มอัตราเร่งของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมลํ้าให้เลวร้ายลงกว่าเดิม ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาความเหลื่อมลํ้าสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ปัญหาการซื้อหนี้เอกชนมาอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอาจทำให้เกิด Moral Hazard ในระบบอีก ท่านมหาเศรษฐีจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าที่ยํ่าแย่ลงอีกและความยากลำบากทางเศรษฐกิจของประชาชนจะนำมาสู่ภาวะความไม่สงบเรียบร้อยทางสังคมและปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองได้ ไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนและธุรกิจของท่านเลยโดยเฉพาะในอนาคต

ข้อที่เจ็ด ท่านมหาเศรษฐีต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแม้ว่าท่านจะยอมสละผลประโยชน์บางอย่างเพื่อความมั่นคงและความเชื่อมั่นต่อระบบการบริหารนโยบายการเงินและระบบการเงินของประเทศในระยะยาว ผมเชื่อมั่นว่า ตราสารหนี้ทั้งหลายของบริษัทมหาชนที่ท่านมหาเศรษฐีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ ตราสารหนี้เหล่านี้จะครบกำหนดภายในปีนี้ มูลค่าโดยรวมประมาณหลายแสนล้านบาทนั้น ท่านสามารถอาศัยกลไกตลาดในการออกหุ้นกู้ใหม่หรือชำระคืนเงินกู้ได้ด้วยสภาพคล่องที่มีอยู่โดยไม่ต้องใช้เงินสาธารณะ ผมเชื่อมั่นว่า ท่านทั้งหลายมีความสามารถนำพาบริษัทของท่านให้พ้นวิกฤติได้และยังเชื่อมั่นอีกว่า เวลานี้ตลาดการเงินของไทยยังแข็งแรงและไม่ได้มีความเสี่ยงจะล่มสลายใดๆ ส่วนบริษัทที่ไม่ได้รับเชิญให้ไปร่วมหารือกับท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกตราสารหนี้ที่มีปัญหาต้องปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยการลดทุนแล้วจึงเพิ่มทุน ก็สามารถออกตราสารหนี้ขายธนาคารพาณิชย์ แล้วนำมาขายต่อให้แบงก์ชาติได้ ไม่จำเป็นที่แบงก์ชาติต้องเข้าซื้อโดยตรง ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) หรือ รัฐบาลอาจให้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าเพื่อแก้ปัญหาก็ได้

ข้อที่แปด การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการออกเป็นพระราชกำหนดโดยไม่ผ่านรัฐสภา จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคตได้ หากประเทศไทยไม่ได้มีคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมาในอนาคต กฎหมายใหม่ที่ออกโดยอำนาจรัฐบาลโดยไม่ผ่านรัฐสภานี้จะอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดุลยพินิจในการช่วยเหลือบางรายและไม่ให้การช่วยเหลือบางราย ซึ่งในหลายกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ได้ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระและอย่างมืออาชีพก็ได้ จะทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเดียวกับช่วงปี พ.ศ. 2538-2539 ก่อนวิกฤติปี 2540 นอกจากนี้ ท่านจะตอบคำถามบริษัทจำนวนมากที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแนวทางนี้อย่างไร

ข้อที่เก้า หากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ เม็ดเงิน 400,000 ล้านบาทในการซื้อตราสารหนี้เอกชนนั้นไม่สามารถพยุงตลาดการเงินได้ เพราะตลาดการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัตน์ตลาดการเงินโลก และ ตลาดตราสารหนี้มีขนาดมากกว่า 3 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลยังยืนยันจะจัดตั้งกองทุนซื้อตราสารหนี้เอกชน ท่านมหาเศรษฐีทั้งหลายต้องร่วมออกเงินทุนเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเงินสาธารณะในอนาคตด้วยจึงจะเป็นธรรมกับกลุ่มทุนอื่นๆและประชาชนโดยทั่วไป

ข้อที่สิบ ขอให้ท่านมหาเศรษฐีช่วยกันสนับสนุนให้ รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย ฝ่าวิกฤตินี้ไปให้ได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ขอให้ท่านมหาเศรษฐีร่วมกับประชาชนปิดโอกาสของการทำรัฐประหารหรือรัฐประหารเงียบที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตหรือการแก้ไขปัญหาวิกฤติด้วยวิถีทางนอกกฎหมาย และ ฝากท่านทั้งหลายได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมด้วยว่า อย่าแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารหรือรัฐประหารเงียบ และขอความกรุณาท่านรัฐมนตรีกลาโหมช่วยกำกับผู้นำกองทัพไม่ให้ก่อการรัฐประหาร ผมเชื่อมั่นในคุณสมบัติท่านนายกรัฐมนตรีว่าจะสามารถป้องกันการรัฐประหารในอนาคตได้

เนื่องจากท่านเป็นแกนนำของการยึดอำนาจรัฐประหารมาสองครั้งในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ท่านมหาเศรษฐีทั้งหลายมีการลงทุนอยู่ทั่วโลกและมีบริษัทที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว บริษัทของท่านทั้งหลายจะสามารถเติบโตและแข่งขันได้เป็นบริษัทแถวหน้าในระดับโลกได้ หากประเทศนี้มีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มั่นคง เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ท่านมหาเศรษฐีคงทราบดีว่า ประเทศของเรามีปัญหาเรื่องRule of Law ท่านก็ทราบดีอีกว่า ไม่มีการลงทุนระยะยาวใดๆเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มี Rule of Law ท่านมีส่วนสำคัญที่จะช่วยกันทำให้เกิด Rule of Law ในประเทศนี้

ข้อที่สิบเอ็ด ผลกระทบภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรงมากและจะส่งผลกระทบต่อผลิตผลภาคเกษตรกรรม ทั้งที่ปีนี้น่าจะปีนี้แห่งโอกาสของสินค้าเกษตรกรรมของไทยและการส่งออกสินค้าเกษตร ขอให้ ท่านมหาเศรษฐี ร่วมกับ รัฐบาล ในการช่วยกันรณรงค์การประหยัดนํ้าและริเริ่มโครงการปลูกป่าต้นนํ้า ซึ่ง มหาเศรษฐีอย่าง ท่านบัณฑูร ลํ่าซำ ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ส่วนข้อเสนอต่อประชาชน ผมมีข้อเสนอและแนวทาง ที่จะกราบเรียนประชาขนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ดังต่อไปนี้

ข้อที่หนึ่ง ผมตระหนักว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือการฝ่าวิกฤติจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมกันทำ Self Quarantine หากรู้ว่าตัวเองป่วยหรือมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเลย ประเทศยุโรปเหนือหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน เป็นต้น ประชาชนมีสำนึกและรับผิดชอบสูง ทำ Self Quarantine โดยรัฐไม่ต้องใช้อำนาจสั่งกักกันและไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown แบบเหวี่ยงแห ปิดเมืองนำมาสู่ความยากลำบากและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ State Quarantine นั้นมีต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางสังคม และ อาจนำมาสู่ต้นทุนทางการเมืองด้วย

ข้อที่สอง ขอให้ประชาชนยึดหลักภราดรภาพนิยม มองเห็นเพื่อนร่วมชาติเป็นพี่เป็นน้องของท่าน กระแสความมีนํ้าใจเหล่านี้จะทำให้เราฝ่าวิกฤติไปได้ เพื่อนร่วมชาติของเราที่เปราะบางที่สุด ยากจนที่สุด ลำบากที่สุด จะได้ไม่ต้องทำอัตวินิบาตกรรมตัวเองและครอบครัวเพื่อหนีความทุกข์ยากซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศเมืองพุทธอย่างไทย

ข้อที่สาม ขอให้ท่านยึดหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ และ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้ปัญหาต่างๆที่ท่านทั้งหลายเผชิญอยู่ในทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตเบาลง

ข้อที่สี่ ขอให้ท่านเตรียมรับสถานการณ์ที่ยํ่าแย่กว่านี้มากในช่วงปลายของไตรมาสสองต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสามปีนี้ เพราะอาจมีการติดเชื้อระลอกสองในบางประเทศ ปัญหาการแพร่ระบาดของ Covid-19 จะอยู่กับเราไปอีกไม่ตํ่ากว่า 2 ปี อย่างไรก็ตาม เราต้องมีความหวังเสมอว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นในปีหน้าหากทุกคนช่วยกัน แม้นประเทศเราจะไม่มีบริษัทที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนก็ตาม

ข้อที่ห้า ขอให้ท่านร่วมมือปฏิบัติตามสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมืออย่างเต็มที่ และ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามชุมชนที่ท่านอยู่ การช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นแล้วเจตนาดีและการช่วยเหลือของท่านจะนำไปสู่ปัญหาเพิ่มเติมตามมาอีก

ข้อที่หก หลังวิกฤตการณ์คลี่คลายแล้ว พวกเราประชาชนทั้งหลายต้องมาร่วมกันปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่และแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ได้เผยโฉม “ระบบราชการไทย” เปลือย “ระบบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช.” และทำให้เห็นว่า “ประเพณีวัฒนธรรม” และ “ระบบต่างๆ” ของประเทศว่าเป็นอย่างไร และสามารถรับมือกับวิกฤติต่างๆได้ดีเพียงใด ซึ่งก็มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง

ด้วยความเชื่อมั่นในประเทศไทยและพลังของประชาชน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ทั้งนี้นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก อีกว่า สิ่งที่เสนอไปและเรียกร้องไปยัง มหาเศรษฐี 20 ท่านที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีนั้นตนไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องเหล่านั้นต้องเกิดจากการขับเคลื่อนโดยพลังของประชาชนที่ตื่นรู้ ผู้นำทางการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการและเชื่อมั่นในการมีส่วนร่วม รวมทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริงเท่านั้น ที่สำคัญอย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเล่นเกมการเมืองกันเพราะจะทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้นอีกและนำมาสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมทั้งการปฏิบัติทางด้านข่าวสารของ IO ทั้งหลายที่ใช้เงินภาษีประชาชนต้องไม่สร้างความเกลียดชังและต้องมองคนเห็นต่างอย่างเข้าใจ ที่สำคัญต้องสร้างความสมานฉันท์


You must be logged in to post a comment Login