- ปีดับคนดังPosted 13 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 7 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ม.มหิดล นครสวรรค์ จัดทีมจิตอาสาสร้างเกราะป้องกัน Covid-19 บรรลุผลพบตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่ากับ 0
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาทองอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ รวมประชากรทั้งหมดประมาณ 7,400 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัส Covid-19
อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จังหวัดนครสวรรค์ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทั้งสิ้น 9 ราย โดยที่อำเภอพยุหะคีรีซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตพบผู้ติดเชื้อถึง 3 ราย ซึ่งกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจน้อยในเรื่องการป้องกันโรคและการดูแลตัวเอง เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับคนในพื้นที่ชุมชนตำบลเขาทอง เราจึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในชุมชน ออกหน่วยประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ความรู้และดูแลสุขภาพประชาชน จนบรรลุผลสำเร็จ สามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในเขตพื้นที่ชุมชนตำบลเขาทอง ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ตำบลทั้งหมดของอำเภอพยุหะคีรียังคงมีตัวเลขเท่ากับ 0
“เรามองว่าการแค่ออกไปประกาศคงไม่พอ เราต้องทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่เข้าถึงประชาชนทั้ง 12 หมู่บ้านในชุมชนตำบลเขาทองด้วย โดยทีมจิตอาสาของวิทยาเขตฯ ซึ่งประกอบไปด้วยคณาอาจารย์ และนักศึกษาที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ได้รวมตัวกันออกหน่วยให้บริการความรู้เรื่องการป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 แก่ประชาชนในพื้นที่ทุกวัน”
“จุดหนึ่งที่เรามองเห็นว่าเป็นจุดเสี่ยง คือ ตลาดนัดแผงลอย และร้านค้าทุกแห่ง ในตำบลเขาทอง โดยทีมจิตอาสาได้ออกไปติดป้าย “ให้บริการเฉพาะผู้สวมหน้ากากอนามัย” พร้อมทั้งจัดหาเจลแอลกอฮอล์ล้างมือไว้สำหรับป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังช่วยจัดระเบียบในการจัดประชุมของชุมชน ร่วมกับ อบต.เขาทองในเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างในห้องประชุม ตลอดจนให้บริการตรวจวัดอุณหภูมิผู้ที่เข้าทำบุญที่วัดเขาทอง และยังได้จัดทีมพยาบาล และนักสุขศึกษา จาก ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เวียนให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 ทางวิทยุชุมชนในทุกวันอีกด้วย” อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ กล่าว
ด้าน นายแพทย์เชิดเกียรติ เติมเกษมศานต์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ กล่าวเสริมว่า ทางศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ฯ ได้เตรียมการรองรับผู้ป่วย Covid-19 ในอนาคต โดยได้จัดให้มีหอผู้ป่วยแยกโรค (Cohort Ward) จำนวน 16 ห้อง เพื่อผ่องถ่ายผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ที่อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอาการจากโรงพยาบาลประจำจังหวัดนครสวรรค์ ตามแผนมาตรการการควบคุมโรคระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และจัดสร้างห้องความดันลบแบบสมบูรณ์ (Complete Negative Pressure Room) ที่มีการแบ่งโซนความระดับความปลอดภัยของการติดเชื้ออย่างชัดเจน สำหรับการทำหัตถการที่มีการฟุ้งกระจายสูง อย่างเช่นการตรวจสารคัดหลั่ง โดยมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2563 นี้
“เรามองไปถึงแผนระยะยาว โดยสร้างความตระหนักให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักการดูแลและป้องกันตัวเอง ไม่ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากชุมชนเข้มแข็ง เชื่อว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตนี้ได้ต่อไปอย่างยั่งยืนแน่นอน” อาจารย์ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย
****สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
You must be logged in to post a comment Login