วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บทเรียนจากเดือนรอมฎอน ยิ่งให้ยิ่งเพิ่ม

On May 1, 2020

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  1-8 พ.ค. 2563)

เมื่อนบีมุฮัมมัดเริ่มเผยแผ่อิสลามในเมืองมักก๊ะฮฺ ไม่เพียงแต่ท่านเท่านั้นที่ถูกต่อต้าน แต่ใครก็ตามที่หันมารับความศรัทธาและคำสอนของนบีมุฮัมมัดจะถูกข่มเหงรังแกด้วย ไม่ว่าคนผู้นั้นจะยากดีมีจนหรือมีสถานะทางสังคมอย่างไรก็ตาม

การกดขี่ข่มเหงดำเนินไปเป็นเวลา 13 ปี โดยที่นบีมุฮัมมัดสั่งบรรดาสาวกของท่านมิให้โต้ตอบ แต่ให้ใช้ความอดทนและวิงวอนขอความช่วยเหลือต่อพระเจ้า แต่เมื่อการต่อต้านรุนแรงจนถึงขั้นหัวหน้าเผ่าที่เป็นผู้นำชาวเมืองมักก๊ะฮฺวางแผนลอบสังหารนบีมุฮัมมัด พระเจ้าจึงบัญชาให้ท่านและบรรดาสาวกอพยพไปยังเมืองยัษริบ

การอพยพเป็นไปแบบลับๆ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ และเดินทางในเวลากลางคืน เพื่อมิให้มีใครรู้ความเคลื่อนไหว จนกระทั่งทุกคนเดินทางไปหมดแล้ว นบีมุฮัมมัดจึงออกเดินทางอพยพเป็นรายสุดท้าย โดยมีสหายสนิทติดตามไปเพียงคนเดียว

มุสลิมที่อพยพไปยังเมืองยัษริบอยู่ในสภาพเดียวกัน นั่นคือทุกคนอยู่ในสภาพยากจน เพราะสาวกของท่านนบีส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือไม่ก็เป็นทาส ส่วนคนที่มีฐานะก็ต้องทิ้งทรัพย์สิน เช่น บ้าน สัตว์เลี้ยง และสวนไว้ในมักก๊ะฮฺ ไม่สามารถนำอะไรติดตัวมาได้

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพตามมาถึง ท่านจำเป็นต้องแก้ปัญหาปากท้องของสาวกของท่านก่อนเป็นเบื้องแรก ท่านขอร้องชาวเมืองมะดีนะฮฺที่เป็นมุสลิมให้รับผู้อพยพจากมักก๊ะฮฺไปอุปการะ โดยจับคู่สร้างความสัมพันธ์ฉันญาติธรรมให้จนถึงขั้นสามารถรับมรดกจากกันได้ แต่ถึงกระนั้นก็ทำได้ไม่กี่คน ยังมีผู้ศรัทธาที่ยากจนอีกหลายๆสิบคนรอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในมัสยิดที่ท่านสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิง

ในสภาพลำบากยากจนดังกล่าว นบีมุฮัมมัดสั่งสาวกของท่านให้ช่วยกันบริจาคสิ่งที่มีแก่คนที่ไม่มี สาวกบางคนเข้าใจเจตนาของท่าน แม้ไม่มีอะไรจะให้ แต่ก็ไปทำงานหรือค้าขายเพื่อหาสิ่งของมาบริจาคตามคำสั่ง สาวกที่ทำเช่นนี้หลายคนได้มีฐานะมั่งคั่งในเวลาต่อมา

ในตอนที่อพยพไปถึงเมืองยัษริบใหม่ๆยังไม่มีคำสั่งเรื่องการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นบีมุฮัมมัดได้สั่งให้มุสลิมถือศีลอดตามแบบอย่างชาวยิวในยัษริบ แต่เมื่อชาวยิวปฏิเสธการเป็นนบีของท่าน พระเจ้าจึงได้มีบัญชาให้มุสลิมถือศีลอดตามแบบอิสลามในเดือนรอมฎอนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในช่วงเวลานั้นแม้ชาวเมืองยัษริบจะมอบความเป็นผู้นำให้แก่นบีมุฮัมมัด แต่ท่านยังไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลสวัสดิการประชาชน ท่านได้สั่งให้มุสลิมดูแลกันเอง โดยทุกคนที่มีอาหาร เช่น ข้าว แป้ง อินทผลัม เหลือกิน 1 วัน ต้องนำอาหารเหล่านี้ในปริมาณ 4 กอบมือ ไปให้คนยากจนก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน อาหารจำนวนนี้ถูกเรียกว่า “ซะกาตุลฟิฏร์” และท่านกล่าวว่า ใครถือศีลอดแล้วไม่จ่ายซะกาตุลฟิฏร์ พระเจ้าจะไม่รับการถือศีลอดของเขา นอกจากนี้แล้วการจ่ายซะกาตจะช่วยชดเชยความบกพร่องในการถือศีลอดอันเกิดจากการซุบซิบนินทา หรือข่มอารมณ์โกรธไม่ได้ เป็นต้น

zakat alfitr

คำสั่งนี้ออกมาก่อนหน้าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจะเริ่มต้น

ในสภาพอดอยากขาดแคลนเช่นนั้น สาวกหลายคนของท่านคิดว่าการเอาอาหารที่ตัวเองมีอยู่ไปให้คนอื่นเป็นทานจะทำให้อาหารของตัวเองลดลง แต่นบีมุฮัมมัดย้ำว่าพระเจ้าจะไม่ทำให้การบริจาคเป็นสาเหตุแห่งความยากจน และพระเจ้าได้กล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานว่า สิ่งที่บริจาคไปในหนทางของพระเจ้าจะเป็นเหมือนเมล็ดข้าวเมล็ดหนึ่งที่แตกออกเป็น 7 รวง แต่ละรวงจะมี 100 เมล็ด

ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าและความเชื่อฟังนบีมุฮัมมัดนี้เองที่ทำให้คนมีอาหารเหลือกิน 1 วัน ไปสำรวจคนที่ยากจนกว่าตนและนำอาหารไปให้ แม้ตอนนำอาหารออกจากบ้านของตนไปให้คนยากจน บางคนรู้สึกใจแป้วที่เห็นอาหารในบ้านของตนลดลง แต่เมื่อกลับมาบ้านปรากฏว่ามีคนนำซะกาตฟิฏร์มาให้แก่ตนมากกว่าที่ตัวเองนำไปให้คนอื่น ความเชื่อมั่นว่าการบริจาคไม่ได้ทำให้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่น้อยลงจึงเกิดขึ้น และทำให้คนในสังคมบริจาคทานกันมากขึ้น สังคมจึงรอดพ้นจากความอดอยาก

ทุกวันนี้การจ่ายซะกาตฟิฏร์ถือเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องทำ ไม่แต่เฉพาะของตัวเองเท่านั้น หัวหน้าครอบครัวยังต้องจ่ายแทนทุกคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของตนด้วย

 


You must be logged in to post a comment Login