วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

มาประมูลบ้านกับผม ดร.โสภณ พรโชคชัย

On May 5, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 8-15 พ.ค. 2563)

พูดถึงการประมูลบ้าน หลายคนเบ้หน้า เพราะมีเล่ห์กลมากมายแฝงอยู่ ไม่โปร่งใส บางทีประมูลบ้านไปแล้ว กลับไม่ได้บ้าน เจ้าของบ้านพร้อมลูกยังกระจองอแงอยู่ภายในบ้านที่เราประมูลได้  มาพบมิติการประมูลใหม่ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ที่มีประสบการณ์การจัดประมูลทรัพย์สินสมัย ปรส.เมื่อปี 2542 และจัดอบรมการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการประมูลทรัพย์ให้กับกรมบังคับคดีมาหลายต่อหลายรุ่น จะจัดการประมูลที่เป็นธรรมขึ้นให้เป็นมิติใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์

เมื่อปี 2542 ดร.โสภณเคยทำประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ให้กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบัน (ปรส.) ซึ่งว่าจ้างบริษัทประเมินนับสิบแห่งดำเนินการ เสร็จแล้ว ปรส. ก็จัดลงหนังสือพิมพ์ชั้นนำมากมาย เชิญชวนให้ผู้สนใจประมูลมาดูนิทรรศการอสังหาริมทรัพย์ที่เสนอขาย มีการพาผู้สนใจไปดูถึงสถานที่จริง (open house) ปรส. ยังตั้งราคาประมูลไว้ที่ 50% ของมูลค่าที่บริษัทประเมินประมาณการไว้ รายงานประเมินก็ให้ผู้สนใจซื้อไปศึกษาได้ และจัดการประมูลอย่างเป็นธรรม ให้ทุกฝ่ายได้สู้กันอย่างเป็นธรรมถึง 2-3 หน  ผลปรากฏว่า ผู้ซื้อ ๆ ทรัพย์สินกันในราคาเฉลี่ยสูงถึง 80% ของมูลค่าตลาด นี่คือการประมูลที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

แต่ในกรณีของทางราชการ ก็ยังมีเรื่องปวดหัวเพราะประมูลบ้านแล้วยังต้องขับไล่เอง ซึ่งเป็นการสะท้อนประสิทธิภาพการจัดการที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นเลย  ความจริงบ้านที่จะประมูลควรปลอดผู้อยู่อาศัย เคลียร์เรื่องต่าง ๆ แล้วจึงค่อยนำไปประมูลมากกว่า เพื่อที่ผู้ซื้อจะตัดสินใจได้เร็วโดยไม่ลังเลและไม่ยุ่งยากภายหลัง  การประมูลก็เพื่อหวังให้ผู้ขายๆ บ้านได้ในราคาที่เป็นไปได้สูงสุดเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ ลงทุน ฯลฯ โดยเร็วที่สุด และให้ผู้ซื้อบ้านซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อให้ได้ผลกำไรที่ดีที่สุดนั่นเอง

ดร.โสภณ จึงขอเชิญท่านที่สนใจเข้าร่วมประมูล เข้าร่วมได้โดยมีรายละเอียดดังนี้:

1. ทรัพย์เป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด หรือที่ดินเปล่าเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

2. ทรัพย์ที่จะเข้าประมูลต้องไม่มีภาระผูกพันใดๆ หรือพร้อมจะไถ่ถอนมาเพื่อการโอนได้

3. ทรัพย์ทุกชิ้นต้องผ่านการประเมินค่าโดยศูนย์ข้อมูลฯ ซึ่งเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นกลางและได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้ได้ราคาตลาดที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเชื่อถือโดยเจ้าของบ้านเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามอัตราของทางสมาคมฯ  (https://bit.ly/3eWhzwD) และค่าประเมินนี้จะได้รับคืนหลังวันที่ประมูลขายทรัพย์ได้

4. ราคาที่เริ่มประมูลจะเริ่มต้นที่ 70% ของมูลค่าตลาดที่ประเมินได้

5. เมื่อประมูลได้แล้ว จะต้องโอนภายในกำหนด 1 เดือน

6. เจ้าของทรัพย์และผู้ที่ประมูลได้ จะเสียค่าใช้จ่ายให้ศูนย์ข้อมูลฯ เป็นเงิน 1.5% ของมูลค่าที่ขายได้

สำหรับกำหนดการในรายละเอียดเป็นดังนี้:

วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2563 ลงทะเบียนฝากทรัพย์ที่จะเข้าร่วมการประมูล

1 – 7 มิถุนายน 2563 ทรัพย์ทุกชิ้นที่จะเข้าร่วมการประมูลของศูนย์ข้อมูลฯ จะต้องผ่านการประเมินราคาโดยศูนย์ข้อมูลฯ โดยเจ้าของทรัพย์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามอัตราค่าบริการของสมาคมฯ ค่าใช้จ่ายนี้จะคืนให้ หากมีการประมูลขายทรัพย์ได้แล้ว

8 – 13 มิถุนายน 2563 ศูนย์ข้อมูลฯ เปิดบ้านให้ชมทรัพย์ก่อนวันประมูล

23  มิถุนายน 2563 ดำเนินการประมูลทรัพย์ เวลา 09.00 – 11.00 น. ณ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย

ในการประมูลบ้านนั้น ขั้นตอนตามปกติก็คือ ผู้ประมูลเข้าลงทะเบียนล่วงหน้า และในวันประมูล ผู้ประมูลต้องลงทะเบียนกับเจ้าพนักงาน พร้อมวางเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คเป็นหลักประกันและทำสัญญาในการเสนอราคา จึงรับป้ายประมูลและเข้าไปนั่งในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

ปกติแล้วถ้าเป็นของกรมบังคับคดี เจ้าพนักงานกำหนดราคาเริ่มต้นในช่วงก่อนเริ่มการประมูล โดยแบ่งเป็นการประมูลรอบที่ 1 แต่ถ้าไม่มีผู้เสนอราคาในรอบนั้น ราคาเริ่มต้นในรอบที่ 2 จะลดเหลือร้อยละ 90 และในรอบที่ 3 จะลดเหลือร้อยละ 80 และราคาเริ่มต้นจะเหลือร้อยละ 70 ในรอบที่ 4 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีผู้ประมูล แต่สำหรับการประมูลของศูนย์ข้อมูลฯ เราจะเริ่มต้นอย่างแฟร์ๆ ด้วยราคา 70% ของมูลค่าที่ประเมินได้ตามราคาตลาด (ไม่ใช่ราคาประเมินราชการ) เพื่อให้มีหลักยึดที่โปร่งใสและชัดเจน

ในวันประมูลผู้ประมูลจะยกป้ายเสนอราคา โดยเมื่อผู้ทำการเปิดประมูล ผู้ที่สนใจสามารถยกป้ายเพื่อขอเสนอราคา และยกป้ายสู้ราคากับผู้ประมูลอื่น โดยเจ้าพนักงานจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเพิ่มราคาครั้งละเท่าใด (เช่น ครั้งละ 10,000 บาท) แต่ผู้ประมูลสามารถเพิ่มราคาได้เท่ากับหรือมากกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ จนกระทั่งบ้านถูกประมูลจนได้ราคาสูงสุด ผู้ทำการประมูลก็จะเคาะไม้ขายบ้านหลังนั้นให้ผู้ชนะประมูล ผู้ชนะประมูลก็ต้องชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ในขั้นตอนต่อไป ส่วนผู้แพ้ประมูลก็รับเงินประกันคืนได้ทันที

การประมูลนี้จะช่วยให้ผู้จะซื้อจะขายสามารถประสบความสำเร็จในการซื้อขายได้ ช่วยให้เกิดสภาพคล่อง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศหมุนเวียนดี

ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.trebs.ac.th/th/73/AREA-Auction

 


You must be logged in to post a comment Login