วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

วงเสวนาถกปัญหากู้วิกฤตโควิด จับตาพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน1ล้านล้าน เสนอฟื้นฟูต้องโปร่งใส-เป็นธรรม

On May 28, 2020

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2563) เวลา13.30น. ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพ (The HALLS Bangkok) ในเวทีเสวนา “จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม”จัดโดย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)

ดร.สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โรคระบาดโควิดได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนให้ความสำคัญ  โชคดีที่ประเทศไทยมีระบบสุขภาพที่ค่อนข้างเข้มแข็งทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อยกว่าในหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูสีกัน แต่ระหว่างนี้และหลังจากผ่านการระบาดของโควิด-19  สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญคือผลกระทบจากการปิดเมืองที่ทำให้เกิดโจทย์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน ในระยะสั้นหลายธุรกิจถูกคำสั่งปิด มีคนเดือดร้อนจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในระยะยาว ต่อให้เปิดเมืองแล้วกำลังซื้อก็อาจจะยังไม่กลับมาโดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะหายไปมากจนทำให้คนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการต่างๆขาดรายได้

“ภาพที่ทุกคนอยากเห็นก็คือการรักษาระบบสุขภาพให้เข้มแข็งต่อไป ซึ่งหมายความว่ารัฐจะต้องลงทุนงบประมาณไปกับระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น  ในขณะที่ทรัพยากรด้านการเงินของรัฐมีน้อยลงเนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ รัฐได้ใช้เงินไปเป็นจำนวนมาก ประมาณการณ์ดูคาดว่าใช่ไปเกือบ10%ของจีดีพีภายในปีเดียว  ยังไม่นับการใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เช่นการบินไทยที่เข้าสู่การฟื้นฟูฯ  ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งทบทวนก็คือการจัดสรรการใช้งบประมาณให้ดีขึ้น  ต้องลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลงและดึงเงินกลับมาจัดสรรใหม่” ดร.สมเกียรติ กล่าว

2

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบมากที่สุดซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะภัยคุกคามไม่ใช่การสู้รบกันระหว่างประเทศ ตอนนี้กำลังสู้กับเชื้อโรค  สู้กับปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นต้องจัดสรรงบประมาณมาลงด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม และคงต้องช่วยกลุ่มคนยากจน กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ยากที่สุดก่อน เพราะก่อนที่จะเกิดวิกฤตก็อยู่ในภาวะปริ่มน้ำอยู่แล้ว  พอเกิดวิกฤตเข้ามากระทบก็เรียกได้ว่าล้มทั้งยืน คนเหล่านี้ควรจะเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลในการช่วยเหลือ

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน1ล้านล้านบาทเป็นทางที่จะต้องทำและประเทศไทยโชคดีที่อยู่ในฐานะที่จะทำได้   ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถกู้เงินและใช้เงินในระดับประมาณ10% ของจีดีพีได้ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ  เชื่อว่าคนไทยไม่ติดใจเรื่องการกู้เงินฉุกเฉินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า   แต่ปัญหาคือจะจัดสรรอย่างไรให้เม็ดเงินถูกใช้ไปกับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องและได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้แค่พอใช้แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก  เห็นตัวอย่างได้จากมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน ซึ่งพบปัญหาเยอะและรัฐบาลยังประมาณการขนาดของปัญหาไม่ถูก ซึ่งคิดว่าสิ่งที่คนอยากจะรู้ก็คือ เราจะรอดจากภาวะก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร  ตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุด หลังการระบาดของโควิด-19 ยังมีโจทย์ให้คิดอีกเยอะและต้องประมาณการณ์ไปถึงปี 2565 เพราะเรายังจะอยู่กับโควิด-19 ไปอีกหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี

“ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะส่งสัญญาณออกมาชัดเลยว่าจะเอาอย่างไร  เพราะจะทำให้คนในภาคธุรกิจนั้นๆได้มีโอกาสปรับตัว ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจเกี่ยวกับสถานบันเทิง พูดชัดๆว่าจะไม่ให้เปิดภายในหนึ่งถึงสองปี คนที่ทำงานในสาขานี้ เขาจะได้ไปหางานใหม่ถ้ารัฐบาลไม่พูดให้ชัดและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสุดท้ายคนก็จะรอเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็กลับมาเปิดได้ตรงนี้จะทำให้คนปรับตัวได้ยาก นี่คือเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งคือต้องส่งสัญญาณกันให้ถูก” ดร.สมเกียรติ กล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคช่วงโควิด-19มากที่สุดคือ กลุ่มที่ตกงาน ผู้พิการ ตนมองว่า ในระบบสวัสดิการของรัฐควรให้ความช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า คือบุคคลที่มีสิทธิ์เลือกตั้งหรืออายุ18ปีขึ้นไปต้องได้รับความช่วยเหลือทุกคน  ซึ่งหากรัฐนำตัวเลขข้าราชการ ผู้ประกันตนมาตรา 33เข้ามาช่วยคัดกรองจะทำให้ได้ตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

3

“คนที่ตกงานจำนวนมากได้ย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนา หากพ่อแม่ที่สูงอายุได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ3,000บาท สองคนรวมกัน 6,000 บาท เมื่อลูกตกงานกลับมาเงินจำนวนนี้ยังสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ แต่ในความเป็นจริงเงินที่ผู้สูงอายุได้เฉลี่ยวันละ20บาท ซึ่งมันไม่พอใช้ ส่วนผู้พิการได้รับคนละ 1,000 บาท คุณคิดว่าผู้พิการไม่ได้รับผลกระทบหรืออย่างไร หรือคนพิการไม่ได้ตกงานหรือไม่ ซึ่งต้องจับตางบประมาณที่เหลืออีก4แสนล้านบาทจะถูกนำไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งไม่อยากเห็นการใช้เงินที่เป็นคำสั่งจากกระทรวงไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ควร จัดสรรเงินให้กับทุกจังหวัด  ให้แต่ละจังหวัดเป็นคนบริหารจัดการ โดยมีองค์กรทุกภาคส่วนคอยติดตามการใช้จ่ายเงิน ให้ทุกจังหวัดได้ใช้งบประมาณนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านอื่นๆอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้เห็นการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม และเงินส่วนที่เหลือจึงค่อยนำไปช่วยเหลือประชาชนอีกครั้ง” นางสาวสารี กล่าว

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด วัยทำงานกว่า7ล้านคนถูกเลิกจ้าง จริงๆตัวเลขอาจมีมากกว่านี้  นอกจากนี้หลายบริษัทใช้วิธีลดต้นทุน ลดชั่วโมงการทำงาน ลดเงินเดือน ไม่มีโอที บางบริษัทให้ทำงานเดือนละ15 วัน ปัญหาของคนทุกกลุ่มคล้ายกัน แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่โดนหนัก ไม่มีเงินเก็บ ไร้งาน ไร้สวัสดิการ ไร้การเยียวยา ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเทอมลูก และวิฤกตครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาความรุนแรงทางเพศ เช่น เคสที่มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิ หลายรายถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เคสนายจ้างมอมเหล้าแล้วข่มขืน หรือกรณีผู้หญิงต้องออกไปทำงานก่อสร้างรายวัน ซึ่งเขาไม่มีทางเลือก สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

“ต้องจับตาการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน1ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะนำมาใช้แก้ปัญหากู้วิกฤตโควิด จึงหวังว่าจะนำมาจัดสรรฟื้นฟูเยียวยาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ตกหล่น ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ อย่าตรวจสอบสิทธิเพียงแค่มีทะเบียนบ้านเท่านั้น   ควรทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างสวัสดิการ สร้างเศรษฐกิจ ทั้งนี้อยากเสนอให้มีมาตรการลดค่าเทอม ลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทุกระดับชั้น มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์สำหรับคนกลุ่มเปราะบาง เพราะลำพังสายด่วน1300 คงไม่เพียงพอ ในช่วงโควิดองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากได้เข้าไปมีบทบาท  ช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นเหมือนตาข่ายรองรับส่วนที่หลุดออกจากระบบ  หลายองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนต่างๆ รวมถึง สสส. ได้ปรับบทบาทตัวเองเข้าไปทำงานช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในช่วงโควิดนี้  แม้จะประสบความยากลำบาก  ซึ่งภาครัฐอาจกำหนดกลไกช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” นายจะเด็จ กล่าว

ขณะที่นายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า  การระบาดของโรคโควิด-19เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความมั่นคงทางอาหารชัดเจน ระหว่างช่วงล็อคดาวน์ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือยากจนทั้งในเมืองและชนบท จะได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่มีฐานะปกติทั่วไป จากข้อมูล พบว่า มีคนยากจนประมาณ 70 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลกและในคนกลุ่มนี้มี ค่าใช้จ่ายทางด้านอาหาร เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด พอเกิดกรณีล็อคดาวน์ คนก็ตกงาน เดินทางไปไหนไม่ได้ ผลกระทบ คือคนยากจนไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะเด็ก และหญิงตั้งครรภ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ขาดโภชนาการที่ดี ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

“ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอาหารเพียงพอ สิ่งที่เห็นความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ผ่านมาคือ การแจกถุงยังชีพ ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง หมักดอง ที่มีข้อจำกัดทางด้านสารอาหาร ขณะที่ความช่วยเหลือต่างๆต้องผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ ทำให้ความช่วยเหลือมีข้อจำกัด ตกหล่น ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านอาหาร ต้องยกระดับให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมให้รู้จักปลูกพืชผักสวนครัว สำหรับคนที่มีที่ดินทำกิน หรืออยู่ในพื้นที่จำกัด ส่งเสริมการปลูกผักในเมือง รัฐควรเข้ามาดูและพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์  โดยมีชุมชนหรือเครือข่ายเป็นตัวเชื่อมโยง” นายวิฑูรย์ กล่าว


You must be logged in to post a comment Login