- ปีดับคนดังPosted 10 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานในสถานการณ์ COVID-19
คอลัมน์ : พบหมอศิริราช
ผู้เขียน : ผศ.นพ.วีรชัย ศรีวณิชชากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้ช่วยเลขาฯศูนย์เบาหวาน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้เป็นเบาหวานเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะทราบข้อมูลในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองในช่วงวิกฤต
เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCD) ที่มีความสำคัญ ปัจจุบันจำนวนผู้เป็นเบาหวานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีความตระหนักในการป้องกันดูแลสุขภาพเพื่อลดและชะลอการเกิดเบาหวาน เมื่อได้รับการวินิจฉัยเบาหวานแล้ว การดูแลเพื่อการป้องกันและการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน โดยเฉพาะโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือด อาทิ โรคไต จอประสาทตาเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด ย่อมนำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรด้านสุขภาพและทรัพยากรบุคคลอย่างมหาศาล
มีข้อมูลพบว่าเบาหวานทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดความอ่อนแอลงผิดปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี อายุมาก มีโรคร่วมหลายโรค หรือไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวานมาก่อน ผู้เป็นเบาหวานจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆมากขึ้น อย่างแรกที่ควรทำคงเหมือนบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ที่ควรเคร่งครัดมากกว่าคือ การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ ดูแลตนเองเรื่องเบาหวานอย่างใกล้ชิด และรีบพบแพทย์ถ้ามีความเสี่ยงหรือมีอาการของโรค
ปฏิบัติตัวลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ควรล้างมือบ่อยๆ ไม่ว่าด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำเปล่ากับสบู่ การใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการไอ จาม หรือจำเป็นต้องไปในที่แออัด ชุมชน หรือออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปภายนอกโดยไม่จำเป็น และต้องหลีกเลี่ยงการจับต้องสิ่งของภายนอก ใบหน้าตนเอง ไม่ใช้สิ่งของบางอย่างร่วมกันกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ภาชนะรับประทานอาหาร เนื่องจากจะเป็นการแพร่กระจาย รับเชื้อ สามารถส่งต่อไปได้ หากผู้ป่วยเบาหวานกังวลว่าจะมีการติดเชื้อควรวัดไข้เช้าและเย็น ถ้ามากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสติดต่อกัน มีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หรือมีความเสี่ยงที่ไปรับเชื้อให้รีบปรึกษาแพทย์
การปฏิบัติตัวที่จำเพาะในผู้เป็นเบาหวาน
1.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกายในบ้านให้เหมาะสม ควรตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองที่บ้านบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานที่ฉีดยาอินซูลิน เพื่อจะได้รักษาระดับน้ำตาลให้ได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งเป้าหมายไว้
2.รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ตามแพทย์แนะนำ ไม่ขาดยา ควรมีการประเมินและนับปริมาณยาว่าเพียงพอหรือไม่ และจัดหาให้เพียงพอตลอดเวลา
3.รับประทานอาหารให้เพียงพอ เหมาะสม เพื่อคุมระดับน้ำตาล จำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ รวมถึงต้องมีการเก็บสำรองอาหารที่สามารถนำมาแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เฉียบพลัน เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำฉุกเฉิน ไว้ที่บ้านด้วย
4.ควรควบคุมน้ำหนักให้ดี ชั่งน้ำหนักสม่ำเสมอ ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้นอาจหมายถึงการควบคุมตนเองได้น้อยลง รับประทานอาหารมากแต่กิจกรรมทางกายน้อย หรือการมีภาวะน้ำหนักลดก็อาจหมายถึงภาวะน้ำตาลสูงเกิน ควรปรึกษาแพทย์ถ้าทำได้เพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน
5.เมื่อต้องเก็บตัวอยู่บ้านคนเดียว ควรมีเบอร์โทรศัพท์เพื่อแจ้งญาติและครอบครัวหรือเพื่อนบ้านที่ไว้ใจ เพื่อช่วยเหลือกันในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน หรือโทรฉุกเฉิน 1669
ผู้ป่วยเบาหวานควรมาพบแพทย์อย่างน้อยกี่เดือนครั้งในสถานการณ์ COVID-19
การสำรองยานั้นไม่มีข้อแนะนำที่แน่ชัด ที่สำคัญคือต้องมียาให้เพียงพอจนถึงวันที่นัดครั้งถัดไป ไม่เสี่ยงต่อการขาดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในภาวะระบาดปัจจุบัน เพื่อลดการได้รับเชื้อใหม่ โดยปกติแพทย์ที่ทำการดูแลจะเป็นผู้พิจารณา ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี อาจจะมีการนัดหมายที่นานกว่าปกติ เช่น 4-6 เดือน และใช้ระบบการติดตามรูปแบบอื่นๆ เช่น การสื่อสารทางไกลกับแพทย์และทีมงานการรักษา แต่หากผู้ป่วยยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับยา ให้การรักษาเพิ่มเติม ก็จำเป็นต้องมีการนัดหมายที่เร็วกว่าเดิม เพื่อให้คำแนะนำต่างๆ ผ่านระบบการสื่อสารทางไกล หรือระบบโทรศัพท์ ไลน์ หรือมาตรวจที่โรงพยาบาล ตามที่แพทย์เห็นสมควร
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
ควรรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ คาร์โบไฮเดรตจากข้าว แป้งในปริมาณที่เหมาะสม เน้นผักทุกชนิด โดยเฉพาะผักใบ สามารถรับประทานผลไม้ได้แต่ปริมาณ 1 ส่วนต่อมื้อ ปริมาณในการรับประทานให้เหมาะสมขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้ ถ้าผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน ลำไย ควรรับประทานให้น้อยตามส่วน หรือหลีกเลี่ยง เพราะผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหรือมีปริมาณน้ำตาลสูงสามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลหลังการรับประทานขึ้นไปสูงได้มากและรวดเร็ว นอกจากนี้ควรจำกัดอาหารบางชนิดในผู้เป็นเบาหวาน ได้แก่ อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง หรือปริมาณน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับยาเบาหวาน และคำแนะนำด้านอาหารที่ได้รับจากนักโภชนาการและแพทย์ผู้รักษา ให้สมดุลกันในแต่ละมื้อแต่ละวัน
อาหารสำรองที่สามารถแก้ไขระดับน้ำตาลต่ำในเลือด
อาหารที่แนะนำให้นำมาใช้แก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำฉุกเฉินคือ อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ น้ำหวาน น้ำผึ้ง น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ลูกอม ซึ่งจะใช้เท่าที่จำเป็นเบื้องต้นถ้ามีอาการของภาวะน้ำตาลต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจาะเลือดปลายนิ้วได้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างไรก็ตาม หากคนไข้เบาหวานมีอาการของน้ำตาลต่ำและแก้ไขขั้นต้นเองไม่ดีขึ้น หรือที่รุนแรง เช่น หมดสติ ไม่แนะนำให้ป้อนอาหารใดๆเข้าทางปากของผู้ป่วย แต่ควรขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลใกล้ๆโดยด่วน
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำน้อยทำให้ความเข้มข้นของสารต่างๆในร่างกายเสมือนว่ามากขึ้น ทำให้การทำงานของเซลล์ต่างๆผิดสมดุลไป ในผู้เป็นเบาหวานในช่วงอากาศร้อนหรือหลังออกกำลังกายร่างกายจะเสียเหงื่อออกไป โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับน้ำตาลสูงจะทำให้ปัสสาวะบ่อย ยิ่งส่งเสริมให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น ดังนั้น ผู้เป็นเบาหวานจึงควรดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ
อันตราย! หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่า 80-180 มก./ดล.
หากระดับน้ำตาลต่ำกว่า 80 มก./ดล. ผู้ป่วยกำลังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ ซี่งอาจจะเริ่มมีอาการใจสั่น เหงื่อแตก มือสั่น รู้สึกหวิว และอาจมากจนหมดสติ หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจเสียชีวิตได้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ หากมีอาการดังกล่าวควรรับประทานน้ำตาล 15-30 กรัม ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีสติและทำตามสั่งได้ แนะนำให้เลือกรับประทาน 1 อย่าง เช่น ดื่มน้ำผลไม้ 180 ซีซี อมลูกอม 3 เม็ด น้ำผึ้งหรือน้ำหวานเข้มข้น 1 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น แต่หากคนไข้หมดสติหรือทำตามสั่งในการกลืนอาหารไม่ได้ต้องรีบขอความช่วยเหลือหรือพามาสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
หากระดับน้ำตาลสูงกว่า 180 มก./ดล. ให้สำรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติหรือเจ็บป่วยไม่สบายหรือไม่ สำรวจพฤติกรรมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่ระดับน้ำตาลระดับนี้จะกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยจะเสี่ยงการติดเชื้อมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้ำตาลสูงฉับพลันได้ถ้าไม่แก้ไข
ดังนั้น ผู้เป็นเบาหวานควรปรับการรับประทานอาหาร เพิ่มกิจกรรมทางกาย รับประทานยาและฉีดยาอย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามค่าน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ ท่านสามารถติดต่อปรึกษาศูนย์เบาหวานในเวลาราชการ หรือผ่านช่องทางระบบสื่อสาร และนัดหมายปรึกษาทีมแพทย์เจ้าของไข้ หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน ในการปรับยาและการรักษาเบื้องต้น
สำหรับผู้เป็นเบาหวาน รพ.ศิริราชมี “ศูนย์เบาหวานศิริราช” ให้บริการครบวงจร สามารถติดต่อสอบถาม ปรึกษาเกี่ยวกับเบาหวานได้ที่ โทร.0-2419-9568 ต่อ 101-102 เวลา 09.00-14.00 น. ในวันราชการ
You must be logged in to post a comment Login