- อย่าไปอินPosted 2 days ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 5 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ สบร. พัฒนาสนามเด็กเล่นวิถีธรรมชาติ
ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย หรือ World Vision Foundation of Thailand เปิดเผยในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การพัฒนาสนามเด็กเล่นวิถีธรรมชาติ” ว่าการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาระดับปฐมวัย มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก เนื่องจากธรรมชาติของเด็กในวัย 3-6 ปี เป็นช่วงวัยที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้ ต้องการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการเล่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ในการเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้และงานวิชาการ เพื่อพัฒนาสนามเด็กเล่นวิถีธรรมชาติหรือพื้นที่เล่นสำหรับเด็ก ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อศึกษาในมิติต่างๆ ภายใต้ ‘โครงการรากฐานแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย’ ที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ จัดทำขึ้นโดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งกับผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานรัฐ เพื่อร่วมกันพัฒนาความพร้อมและส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กยากไร้ในพื้นที่ห่างไกล
“สนามเด็กเล่นวิถีธรรมชาติเป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมทางการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งการวางแผน การออกแบบร่วมกัน รวมถึงการแบ่งปันทรัพยากร ทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน เพื่อสร้างสนามเด็กเล่นให้กับลูกหลานของตนเอง โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านส่งเสริมพัฒนาการ ด้านความปลอดภัย ด้านความสนุกสนาน และด้านการดูแลรักษา ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งพัฒนาการทางด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านอารมณ์ และพัฒนาการด้านพฤติกรรมทางสังคม การเล่นในรูปแบบต่างๆ อย่างอิสระยังเป็นการส่งเสริมการใช้จินตนาการ ทำให้เด็กมีจิตใจอ่อนโยนและรักสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563-2566 มูลนิธิศุภนิมิตฯ มีแผนงานที่จะดำเนินการจัดทำสนามเด็กเล่นวิถีธรรมชาติ ในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 114 แห่ง ซึ่งจะมีเด็กกว่า 4,641 คน ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานครั้งนี้”
ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ OKMD กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเด็กและครอบครัว รวมถึงสร้างสรรค์สังคมต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพของเด็กไทย ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญที่ยั่งยืน
“ทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนาคู่มือการสร้างสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย และออกแบบวิธีการจัดกิจกรรมผ่านการเล่นสนาม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครับและชุมชน พัฒนาหลักสูตรการอบรม และศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ศึกษาวิจัยแนวทางการใช้ประโยชน์ การพัฒนาปรับปรุง และการบริหารจัดการสนามเด็กเล่น เพื่อสร้างความพร้อมทางด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์ และจิตใจ ให้แก่เด็กไทย เพื่อให้สามารถค้นพบทักษะและศักยภาพของตนเอง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย”
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) กล่าวว่า การออกแบบสนามเด็กเล่นของ สบร. จะเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติ ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักสังเกตและเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยแบ่งพื้นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออกเป็นหลายพื้นที่ อาทิ พื้นที่ปีนป่ายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่และความสัมพันธ์ของร่างกาย พื้นที่ส่งเสริมการทรงตัว พื้นที่เพื่อการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น
“ผมเชื่อมั่นว่า หากมีการนำแนวคิดสนามเด็กเล่นของ สบร. ไปปรับใช้ในการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในสนามเด็กเล่นต่างๆ ก็จะสามารถช่วยให้เด็กไทยเติบโตและเรียนรู้ได้อย่างสมวัย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดกระบวนการพัฒนาเด็กและครอบครัว รวมถึงการสร้างเครือข่ายโรงเรียนและชุมชน ต่อไป”
นายวีระ อรุณวัฒนาพร ประธานคณะกรรมการอำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้คือ ได้มีเครื่องเล่นที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการความปลอดภัย อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร
“ความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างมากมายต่อเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเปราะบาง หรือต้องการความช่วยเหลือจากเรา ตลอดจนยังสามารถขยายผลโครงการออกไปในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต”
You must be logged in to post a comment Login