- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 13 hours ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 2 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 3 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 3 days ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 5 days ago
- อย่าไปอินPosted 1 week ago
- ปีดับคนดังPosted 1 week ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 weeks ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 2 weeks ago
สสส.จับมือภาคีระดมสมองเปิดมุมมอง“ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย”
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “New Normal for Thai Children ชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย” ภายใต้โครงการกิจกรรมส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายกลุ่มวัยเด็กในสถานศึกษา (Active Play Active School) พร้อมเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะบนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย”
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านสุขภาพที่ต้องปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากแนวปฏิบัติที่คุ้นเคย กระทบต่อระบบการศึกษาที่ต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน “กลุ่มเด็ก” จึงใช้เวลาหน้าจอมากขึ้นทั้งการเรียน และเล่นเกมออนไลน์ ส่งผลให้มีกิจกรรมทางกายเพียงพอในอัตราที่ลดลง เป็นที่ทราบกันดีว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อสู้กับ โควิด-19 ทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือกับการคุกคามของโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการเอง ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของเด็กนักเรียน และเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ปกครองจึงออกมาตรการเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มปัจจัยเสริมให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี เพื่อรองรับการปรับตัวของเด็ก ๆ ในการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ ซึ่งสอดรับกับบทบาทของ สสส. ในการกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในชีวิตวิถีใหม่
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของประชากรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย สสส. และสถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ของเด็กไทย ใน 2 มิติ คือ มิติเชิงบวก พบว่า มีเด็ก ร้อยละ 11.6 ที่มีโอกาสในการเล่น ออกแรงเคลื่อนไหว และมีกิจกรรมทางกายมากขึ้นกว่าในช่วงปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการที่ผู้ปกครองได้ทำงานจากที่บ้าน ทำให้มีเวลาที่จะร่วมเล่น และทำกิจกรรมกับบุตรหลาน มิติเชิงลบพบว่า มีเด็ก ร้อยละ 61.6 มีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ขณะที่มีช่วงเวลาของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หน้าจอเพื่อความบันเทิง เพิ่มสูงขึ้น เป็น 4 ชั่วโมงกว่า ต่อวัน จากสถานการณ์ในมิตินี้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจากเดิมเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าข้อแนะนำมาตรฐานกว่า 1 ชั่วโมงอยู่แล้ว สสส. จึงมุ่งหวังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมให้ ชีวิตวิถีใหม่ของเด็ก และเยาวชนไทยมีสุขภาวะที่ดี ผ่านการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสูงขึ้นอีกร้อยละ 10
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวว่า การกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม พร้อมกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายอย่างมีสุขภาวะในมิติของการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตวิถีใหม่ นอกจากจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพ ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถป้องกันหรือต่อสู้กับโรคภัยแล้ว ยังเป็นแนวทางการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคได้เป็นอย่างดี และจะเป็นการลดโอกาสการกลับมาระบาดซ้ำของโรคโควิด-19
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 สสส. กล่าวว่า การมีสุขภาวะที่ดีในช่วงวัยเด็ก ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่จะนำพาอนาคตที่สดใสมาให้พวกเขาได้ การเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย และการรับประทานที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ของเด็ก ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องร่วมมือกัน จากสถานการณ์ปัจจุบัน “กลุ่มเด็ก” มีกิจกรรมทางกายลดลง และมีการเลือกรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ เป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยง เช่น น้ำหนักตัวเกิน โรคอ้วน ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ พัฒนาการล่าช้า ส่งผลต่อการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อช่วยกันส่งเสริมให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดี ด้วยการจัดอาหารให้เด็กได้รับประทานอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้ให้เพียงพอ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และให้ดื่มนมจืดอย่างน้อย 2 กล่องต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตตามช่วงวัย และการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ อย่างน้อย 60 นาทีต่อวันผ่านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3 รูปแบบคือ 1.การเล่นเพื่อความสนุกสนานและผ่อนคลาย 2.การเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ตามช่วงวัย และ 3.กิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง
ทั้งนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เป็นผู้ดำเนินรายการ ช่วงบ่ายมีการเสวนา “เจาะลึกกิจกรรมทางกายของเด็กไทยบนชีวิตวิถีใหม่” โดย ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็กไทย เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ สร้างความสุขและความสนุกสนานให้กับเด็กๆ บนชีวิตวิถีใหม่ ผ่าน “คู่มือ การเรียนรู้ 3 มิติ เล่น-เรียน-รู้” ที่จะช่วยให้ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก จัดกิจกรรมให้เด็กในช่วงอยู่ที่บ้านโดยมี “ตารางการเรียนรู้ 3 มิติ” เป็นเครื่องมือเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ในช่วงเวลาทองของแต่ละวัน โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะมิได้จำกัดอยู่ในแง่ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้เท่านั้น แต่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และการรู้คิดของเด็กอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย
พร้อมกันนี้ยังมีคณะผู้ทรงคุณวุฒินำโดย ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 5 และประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวณัฐนรี กระบวนรัตน์ อาจารย์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน โดยสามารถรับชมการเสวนาผ่าน Live ทาง FB : สสส. : ThaiHealth
You must be logged in to post a comment Login