วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

องค์กรด้านเด็ก ชงรมว.พม.ออกมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็กเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

On June 30, 2020

วันนี้ (30มิถุนายน 2563 ) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วย นายชูวิทย์  จันทรส เลขาธิการมูลนิธิฯ และทีมทนายความ นักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เข้าพบนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อหารือกรณีเด็กและเยาวชนถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงรุก มากกว่าการทำงานตั้งรับ

นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ข่าวล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน รุมโทรม ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสะเทือนใจ ตามที่ปรากฎผ่านสื่อมวลชน ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ตัว ครู ญาติพี่น้อง เช่น จากกรณีครู5คน และศิษย์เก่า2คน ข่มขืน ถ่ายคลิปแบล็คเมล์ ข่มขู่นักเรียนชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลายโรงเรียนดงมอนวิทยาคม จังหวัดมุกดาหาร เหตุเกิดต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค.62 ถึง มี.ค.63 และล่าสุดกรณีนี้มีนักเรียนผู้เสียหายแสดงตนเพิ่มอีกหนึ่งรายรวมผู้เสียหายเป็นสามราย ต่อมาเมื่อวันที่13 มิ.ย.63 มีข่าวใหญ่ กรณีข่มขืนเกิดขึ้นอีกที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยผู้ก่อเหตุเป็นญาติถึง7คนข่มขืนเด็กนักเรียนอายุ12 ปี เป็นเวลานานกว่า2ปี ที่น่าตกใจคือมีผู้ก่อเหตุเป็นเด็กรวมอยู่ด้วย 2 คน รวมถึงข่าวข่มขืน คุกคามทางเพศเด็กเกิดขึ้นตามมาอีกหลายราย ส่วนใหญ่ผู้กระทำเป็นบุคคลใกล้ชิด ครู ญาติพี่น้อง ตลอดจนปัญหาที่กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆคือการนำเสนอข่าวเด็กของสื่อมวลชน ที่นับวันเริ่มล้ำเส้นเลยธง บางสถานีมีการสัมภาษณ์เด็ก มีการระบุชื่อเด็ก มีการทำอินโฟกราฟฟิคลงรายละเอียดกันจนเกินเหตุ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อเด็กผู้เสียหายเลย ซ้ำยังเป็นการละเมิดเสิทธิเด็ก และสุ่มเสี่ยงต่อความผิดตาม พรบ.คุ้มครองเด็กอีกด้วย

“พม.ต้องมีมาตรการปกป้องคุ้มครองเชิงรุก โดยเฉพาะกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูเหยื่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งวันนี้มูลนิธิฯ ได้นำจดหมายของเด็กหญิงเหยื่อเหตุการณ์ค้ามนุษย์บ้านน้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน และจดหมายของเด็กหญิงที่ถูกละเมิดกรณีบ้านเกาะแรด จ.พังงา ได้เขียนให้กำลังใจแก่เด็กหญิงผู้ถูกกระทำกรณีบ้านดงมอน จ.มุกดาหาร มาให้ทางรัฐมนตรีเพื่อยืนยันว่ากระบวนการเสริมพลังให้เด็กและครอบครัวมีความพร้อมในการเปลี่ยนจากผู้ถูกกระทำ หรือ เหยื่อ ให้มาเป็นพยานคนสำคัญ ที่จะทำให้คนผิดถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายชูวิทย์ กล่าว

3

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก  และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่าจุดสำคัญในการต่อสู้ มิใช่เรื่องมิติทางกฎหมายอย่างเดียว กระบวนการเสริมพลังให้เด็กที่ถูกทำร้าย  แปรเปลี่ยนจากเหยื่อเป็นพยานเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษนั้น ต้องกระทำให้ลึกพอ  ทั้งเด็กและครอบครัวต้องเห็นเส้นทางของตัวเองที่แจ่มชัดและเข้าใจว่าการเดินทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ้นสุดที่ตรงไหน หากในหัวใจเด็กๆยังปวดร้าวสิ้นหวัง และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การบอกกล่าวความจริงก็จะอ่อนแรงไร้พลัง  ทั้งกฎหมายและการเยียวยา เสริมพลังจึงต้องไปด้วยกันอย่างแข็งแรง และจากสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนี้ เครือข่ายฯมีข้อเสนอต่อ รมว.พม.เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 1.ขอให้เร่งยกระดับงานเชิงป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็กให้เป็นการทำงานเชิงรุก โดยกระทรวงเป็นเจ้าภาพบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ตลอดจนกระตุ้นคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พัฒนาให้เกิดกลไกระดับพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ หรือคณะกรรมการคุ้มครองเด็กตำบล ในการสอดส่อง คัดกรอง และดูแลเฝ้าระวังเด็กมีความความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในแต่ละชุมชน และมีระบบประสานส่งต่อการดูแลคุ้มครองเด็กที่มีความเสี่ยงหรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ ไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับประเทศ ในกรณีที่สภาพปัญหามีความร้ายแรงเกินศักยภาพของกลไกชุมชนหรือจังหวัด 2.ขอให้กระทรวงฯ มีนโยบายสนับสนุนการเรียนรู้และปฏิบัติงานร่วมกัน ข้ามองค์กรหรือข้ามศาสตร์ โดยเปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาระบบการทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก รวมทั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการ พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และร่วมเป็นกลไกในการทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก ลงถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะกระบวนการเสริมพลัง(empowerment) ให้เด็กๆและครอบครัวแปรเปลี่ยนจากฝ่ายผู้ถูกกระทำเป็นพยานผู้เสียหายคนสำคัญ ที่จะนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

และ3.ขอให้กระทรวงฯ เร่งออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กในกรณีความรุนแรงทางเพศ ทั้งเด็กที่เป็นผู้เสียหายและเด็กที่เป็นผู้กระทำผิด และควรมีการดำเนินการให้มีการเอาผิดกับสื่อมวลชนหรือบุคคลที่มีการนำเสนอข่าวสารข้อมูลในลักษณะที่เป็นการละเมิดบทบัญญัติของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

2

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ทางพม.มีนโยบายดูแลเด็กทุกกลุ่ม จากการหารือร่วมกับเครือข่ายฯวันนี้ เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ร่วมถอดบทเรียน ซึ่ง บ้านพักเด็กทั่วประเทศจะสามารถดูแลเด็กและทำงานเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนอกจากนี้เราจะฝึกอาสาสมัครช่วยเป็นหูเป็นตาร่วมเฝ้าระวัง สร้างความมั่นใจและความปลอดภัย ทั้งนี้ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เต็มที่และรู้วิธีการที่จะฝึกรวบรวมความกล้าของผู้ถูกกระทำ ให้สามารถรักษาสิทธิของตนเองเพื่อให้ได้รับความยุติธรรม


You must be logged in to post a comment Login